กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประชุมหารือและติดตามความก้าวหน้าการเตรียมการจัดตั้งศูนย์วิจัย CMU – UK Research Center for Aging and Chronic Conditions ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ London School of Hygine & Tropical Medicine ( LSHTM ) รวมทั้งแลกเปลี่ยน แนวทางการประเมินคุณภาพงานวิจัย ( Research Excellence Framework ) ของ LSHTM ภายใต้ โครงการ Thai – UK World Class University Consortium โดยศูนย์วิจัยจะทำการมุ่งเน้น
- งานวิจัยเพื่อวัดขนาดปัญหา รวมถึงศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดและการดำเนินโรค และศึกษาแนวทางแก้ไข หรือลดภาวะโรค
- พัฒนาศักยภาพนักวิจัยในการใช้ฐานข้อมูล Electronic health Records and Digital health ในงานวิจัย เพื่อให้ส่งเสริมสุขภาพ ลดภาระโรค และลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ในสังคมไทยที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายพันธ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี และรศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน ได้เข้าร่วมประชุมหารือ และติดตามความก้าวหน้าโครงการ Thai-UK World-class University Consortium ที่ดำเนินการร่วมกัน ระหว่าง สป. อว. และ British Council ในการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยสามารถก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกและยกระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพและการอำนวยความสะดวกมหาวิทยาลัยไทย ในการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยไทย และสหราชอาณาจักรและสนับสนุนความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อสร้างกลไกในการเพิ่มความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อจัดการกับลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของไทยและสหราชอาณาจักร
- เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของระบบการเรียนการสอนการวิจัยและระบบบริหารมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพผ่านการพัฒนาบุคลากรด้วยความเชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร
- เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของไทยและสหราชอาณาจักรและสนับสนุนให้เกิดกลไกการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึง ตลอดระยะเวลาในการประชุมหารือ ณ สหราชอาณาจักร ได้นำเสนอแนวทางด้านการพัฒนาอุดมศึกษาในประเทศไทย การผลักดันศักยภาพบุคลากรด้านอุดมศึกษาตลอดจนนักวิจัย และการพัฒนาโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของไทยและสหราชอาณาจักร และแนวทางการผลักดันร่วมกับผู้บริหารและนักวิจัยของ QS Quacquarelli Symonds Ltd (QS) หน่วยงานจัดอันดับชั้นนำของโลก หารือแนวทางในการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยเข้าสู่ระบบการประเมินคุณภาพผ่านระบบ QS Stars Rating และนำข้อมูลการประเมินคุณภาพผ่านระบบ QS Stars Rating มาใช้ในการดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมและยกระดับให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยมีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากลต่อไป
“ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ กับการประชุมหารือความร่วมมือกับ Times Higher Education (THE) สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ในการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยเข้าสู่ระบบการจัดอันดับของ THE University Impact Rankings ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) พร้อมทั้ง การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับสถาบันอุดมศึกษาของไทยในการจะส่งข้อมูล (Data Submission) เพื่อการจัดอันดับ Impact Ranking ประจำปี 2023 มุ่งให้เกิดการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในระบบการจัดอันดับของ THE University Impact Rankings สร้างความเชื่อมือมั่นในระดับนานาชาติอีกด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล กล่าวทิ้งท้าย