แบรนด์ทั่วโลกกว่า 1,000 แบรนด์ อาทิ Swatch จากสวิตเซอร์แลนด์, Swarovski จากออสเตรีย, Shiseido จากญี่ปุ่น และ Tesla จากอเมริกา ได้มารวมตัวกันในมหกรรม China International Consumer Products Expo ครั้งแรก ณ เมืองไหโข่ว เมืองเอกของมณฑลไห่หนานทางภาคใต้ของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ปัจจุบัน จีนจัดงานแสดงสินค้าและมหกรรมทางธุรกิจ การค้า สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมมากมาย ส่งผลให้การเข้าถึงสินค้าต่างประเทศกลายเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบาย ผิดกับเมื่อหลายสิบปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง ก่อนทศวรรษ 2510 ประชาชนจำนวนมากยังอดอยาก ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องการปรนเปรอตัวเองด้วยการช็อปปิงอย่างไรก็ดี นโยบายปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศนับตั้งแต่ริเริ่มนโยบายดังกล่าว จีนได้ผ่านคลื่นลูกใหญ่ของการเปิดกว้างมาแล้วสามครั้ง
ครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 2521 และต่อเนื่องมาตลอดทศวรรษ 2520-2530 ในช่วงนี้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้หลั่งไหลเข้ามาสู่โครงการอุตสาหกรรมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ครั้งที่สองเริ่มขึ้นในปี 2544 เมื่อจีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ซึ่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างมหาศาลอีกครั้ง และช่วยให้จีนบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
ปัจจุบัน จีนเปิดศักราชใหม่ของการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 และกำลังอยู่บนยอดของคลื่นลูกใหม่ที่ประกอบด้วยมาตรการเชิงรุกมากมายเพื่อการบูรณาการที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น กลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวคือการพัฒนาเขตการค้าเสรีใหม่ ๆ และท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน การบูรณาการเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า รวมถึงการบรรลุข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ เช่น การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
แนวทางนี้ช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปและขยายตลาด ทั้งยังก่อให้เกิดแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ นอกจากนี้ การแข่งขันอย่างดุเดือดอันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีทางการค้าและการลดภาษีนำเข้า ยังผลักดันให้ธุรกิจในประเทศต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรและการอัปเกรดอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ระยะเวลากว่า 40 ปีของการปฏิรูปและเปิดกว้างส่งผลให้ยอดนำเข้าและส่งออกรวมของจีนพุ่งขึ้นจาก 2.06 หมื่นล้านหยวน จนทะลุระดับ 4.5 ล้านล้านหยวน จีนจึงขึ้นแท่นประเทศค้าขายชั้นนำของโลก
การเปลี่ยนประเทศจากความแร้นแค้นในอดีตสู่ความมั่งคั่งในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูปและเปิดกว้างไม่ได้เป็นเพียงหลักฐานแห่งความสำเร็จของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นกำลังขับเคลื่อนที่ขาดไม่ได้ในการก้าวไปสู่โลกที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นด้วย