นายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กล่าวไม่กี่วันก่อนการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เมื่อเดือนเมษายนว่า สหรัฐตามหลังจีนในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การที่จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกด้านพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากการวางแผนระยะยาวซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ในการบริหารประเทศ รากฐานของการวางแผนเศรษฐกิจจีนคือแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ซึ่งเริ่มใช้ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2496 โดยเริ่มแรกใช้รูปแบบเดียวกับระบบรวมศูนย์ของสหภาพโซเวียต และในช่วงปีแรก ๆ ก็ไม่ได้ทำตามเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการผลิตได้ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ก็ยังมีความผิดพลาด
ตัวอย่างเช่น ระหว่างการใช้นโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (Great Leap Forward) ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 เพื่อพลิกโฉมจีนจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม จีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลายประการเพราะเป้าหมายนั้นยิ่งใหญ่เกินไป นโยบายดังกล่าวจึงปิดฉากลงด้วยความล้มเหลว จีนเรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว กำหนดเป้าหมายใหม่ที่สามารถทำได้จริง และปรึกษาหารือกันในวงกว้างตลอดหลายปีต่อมา จนกระทั่งถึงช่วงทศวรรษ 2510 ก็ได้มีการประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างแท้จริง
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แผนพัฒนาระยะ 5 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนจีนให้เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก ระบบรวมศูนย์ในอดีตถูกปรับเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ จึงมีโอกาสในการบรรลุผลสำเร็จมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นักวิชาการและหน่วยงานมันสมอง ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนระดับรากหญ้า พรรคการเมืองอื่นนอกเหนือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน และภาคเอกชน
ผลลัพธ์คือเศรษฐกิจจีนที่มีมูลค่าราว 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (4.93 แสนล้านหยวน) ในปี 2524 ได้เติบโตจนเกือบแตะระดับ 16 ล้านล้านดอลลาร์ (100 ล้านล้านหยวน) ในปี 2563 ขณะเดียวกัน จีดีพีต่อหัวที่เคยเท่าอินเดียที่ระดับ 200 ดอลลาร์ (1,280 หยวน) ในปี 2521 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ดอลลาร์ (64,000 หยวน) ในปัจจุบัน หรือมากกว่าอินเดียถึงห้าเท่า บรรดาผู้นำจีนเน้นย้ำเสมอว่าตลาดควรมีบทบาทสำคัญในการการจัดสรรทรัพยากร และจีนไม่มีวันกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อีก แผนพัฒนาระยะ 5 ปี เป็นการผนึกกำลังมือที่มองเห็นของรัฐบาลกับมือที่มองไม่เห็นของตลาด ซึ่งเปลี่ยนจีนให้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก