เอ็มทีเอ็น กรุ๊ป (MTN Group) และหัวเว่ย (Huawei) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส 2566 ที่บาร์เซโลนา (MWC Barcelona) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)  เอ็มทีเอ็น กรุ๊ป และหัวเว่ย จัดสุดยอดการประชุมขึ้นในงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส บาร์เซโลนา โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของเอ็มทีเอ็น มุ่งหน้าสู่เป้าหมายประจำปี 2568 (Ambition 2025) และกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร (CSD) ซึ่งรวมถึงโครงการเทคฟอร์ออลล์ (TECH4ALL) ของหัวเว่ย  “การพัฒนาโซลูชันดิจิทัลชั้นนำเพื่อความก้าวหน้าของแอฟริกาจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยพลังแห่งความร่วมมือเท่านั้น” นอมพิโล โมราโฟ (Nompilo Morafo) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนและกิจการองค์กร เอ็มทีเอ็น กรุ๊ป กล่าว “การร่วมมือกับบริษัทเช่นหัวเว่ยทำให้เราสามารถผสานเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเพื่อผลักดันให้มีการเข้าถึงการเชื่อมต่อ ทักษะด้านดิจิทัล และโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย”

“เราเชื่อว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม ครอบคลุมคนทั่วโลกได้กว้างขวางและยั่งยืนยิ่งขึ้น” กัว ปิง (Guo Ping) ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลของหัวเว่ย กล่าว ในด้านการฝึกอบรมทักษะทางดิจิทัลนั้น หัวเว่ยมีโครงการดิจิทรัค (DigiTruck) ซึ่งจะจัดการฝึกอบรมให้แก่ผู้ด้อยโอกาสโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนชนบท ผู้สูงอายุ เยาวชนว่างงาน เด็กหญิงและผู้หญิง โครงการดิจิทรัคจะแปลงตู้คอนเทนเนอร์เก่ายกขึ้นรถบรรทุกให้กลายเป็นห้องเรียนเคลื่อนที่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีการจัดเตรียมคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป โทรศัพท์สมาร์ตโฟน และการเชื่อมต่อด้วยระบบ 4G ไว้ให้พร้อม

สำหรับโครงการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลโครงการที่ 2 ของหัวเว่ยคือไอซีที อะคาเดมี (ICT Academy) ซึ่งจะจัดการฝึกอบรมทักษะไอซีทีให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัย เช่น 5G ระบบคลาวด์คอมพิวติง และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ปัจจุบันหัวเว่ยมีไอซีที อะคาเดมี ด้วยกันทั้งสิ้น 1,900 แห่ง ใน 110 ประเทศ ให้การฝึกอบรมนักศึกษาปีละ 150,000 คน ขณะเดียวกัน เอ็มทีเอ็นมีโครงการสกิลส์ อะคาเดมี (Skills Academy) ซึ่งจะยกระดับการเชื่อมโยงการฝึกอบรมทักษะทางดิจิทัลเข้ากับคุณสมบัติที่ตลาดงานต้องการ เพื่อประโยชน์ของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ความร่วมมือกับหัวเว่ยจะเป็นตัวเร่งความพยายามดำเนินการโครงการให้เข้าถึงชุมชนชนบทและพื้นที่ห่างไกลได้กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมกับขยายรายการโครงการฝึกอบรมทักษะทางดิจิทัลที่มีอยู่

ประชากรจำนวนมากในทวีปแอฟริกาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท เอ็มทีเอ็นจึงมีความมุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่ายเข้าสู่ชุมชนด้อยโอกาส โดยตั้งเป้าหมายให้บริการบรอดแบนด์ครอบคลุมพื้นที่ชนบทให้ได้ 95% ภายในปี 2568 ความร่วมมือกับหัวเว่ยจะขับเคลื่อนเอ็มทีเอ็นให้เข้าใกล้เป้าหมายดังกล่าวยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเอ็มทีเอ็นยังมีเจตนารมณ์ที่จะเพิ่มโครงการความร่วมมือ ตลอดจนรูปแบบความร่วมมือจากที่มีอยู่เดิม  เอ็มทีเอ็นและหัวเว่ยยังร่วมมือกันในการนำ “รูรัลสตาร์” (RuralStar) ซึ่งเป็นโซลูชันการเชื่อมต่อราคาประหยัดมาใช้เพื่อให้ชุมชนชนบทและพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ โซลูชันดังกล่าวจะก้าวข้ามอุปสรรคเดิม ๆ ที่ทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายในพื้นที่ดังกล่าวได้ และจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรรายต่าง ๆ หลังจากที่ดำเนินการทดสอบความเป็นไปได้ของแนวคิดรูรัลสตาร์สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศกานาเมื่อปี 2560

ในด้านการลดการปล่อยคาร์บอนนั้น หัวเว่ยจะเข้ามาสนับสนุนพันธสัญญาของเอ็มทีเอ็นที่จะลดการสร้างผลกระทบต่อโลก และบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2583 เอ็มทีเอ็นและหัวเว่ยจะร่วมมือกันลดปริมาณคาร์บอนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ พร้อมกับขยายเครือข่ายกลุ่มอุปกรณ์สถานีฐานหรือ RAN (Radio Access Network) เครือข่ายการคมนาคมขนส่ง พื้นที่จัดเก็บ และศูนย์ข้อมูล ทั้งนี้ ในการลดคาร์บอนในเครือข่ายให้ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้นวัตกรรมโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อม