นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 92.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่ายอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าคงทน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรีในช่วงที่ผ่านมา ในด้านการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศ คู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ อินเดียและออสเตรเลีย ขณะที่ในเดือนมีนาคมผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้รับผลดีจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งให้กับภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,336 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมีนาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 75.0 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 55.8 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 50.2 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 78.5 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 36.1 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 30.5 ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 100.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 รวมถึงภาคการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้กับสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น อาทิ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นต้น
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
- เสนอให้ภาครัฐดำเนินการตามแผนงานเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 หลังจาก พ.ร.บ. งบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ประกาศใช้โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนต่อเนื่องที่ยังค้างชำระ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
-
เสนอให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าไทยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อเพิ่มช่องจัดจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการและสนับสนุน Soft Power รวมถึงการจัด Roadshow แสดงสินค้าในต่างประเทศ
-
3. ขอให้ภาครัฐดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids
ส.อ.ท. มุ่ง “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand)”
Post Views: 66