สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จัดพิธีปิดโครงการและมอบใบรับรองแก่ผู้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ในโครงการดำเนินงานเพื่อขอรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ให้กับผู้ประกอบการตามมาตรการคูปองดิจิทัล เพื่อรับรองมาตรฐานด้านดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ลาน ThaiBev (VDO Wall) ชั้น 10 ส.อ.ท. โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่สร้างผู้ประกอบการคุณภาพในอุตสาหกรรมตามเกณฑ์มาตรฐานสากล จำนวนทุน 51 ราย ซึ่งโครงการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ และมีผู้สนใจสมัครมากกว่า 100 ราย จนผ่านการพิจารณาคัดเลือก และดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 จนถึง ธันวาคม 2565 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 29110 เกิดผู้ประกอบการคุณภาพ จำนวนทั้งสิ้น 51 ราย ครอบคลุมในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเขตภูมิภาค ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการเทียบเท่ามาตรฐานสากล เดินหน้าเปิดโอกาสสู่ตลาดภาครัฐ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันต้องการการขับเคลื่อนไปสู่ Industry transformation เพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำหน้าการผลิต กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนมาจากผู้ประกอบการผู้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและต้องการการส่งเสริมในด้านต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง การส่งเสริมที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาองค์กร พัฒนาแนวคิด พัฒนากระบวนการทำงาน เพื่อสร้างมาตรฐานในการทำงานให้เป็นระบบ และมีศักยภาพในการแข่งขันกับองค์กรต่างๆ ได้ มาตรฐานสากล ISO/IEC 29110 เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนากระบวนการและการบริหารเหล่านี้ โดยมาตรฐานมุ่งเน้นส่งเสริมการทำงานที่เป็นระบบ พัฒนากระบวนการเชิงลึกภายในองค์กร และมุ่งต่อยอดในการสร้างพื้นฐานของระบบงานและนวัตกรรมในองค์กรผ่านกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้น การส่งเสริมมาตรฐานให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีและดิจิทัลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สำคัญอันดับต้นๆ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระบุว่า “มาตรฐาน ISO/IEC 29110 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Provider) เพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมผ่านมาตรการต่างๆ ของสำนักงาน และยังเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการตาม ‘บัญชีบริการดิจิทัล’ กลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบสาระสำคัญเรื่องการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 โดยมุ่งหวังให้เป็นมาตรการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมเปิดโอกาสสู่ตลาดภาครัฐ” นอกจากนี้ มาตรฐาน ISO/IEC 29110 ยังเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จากผู้ประกอบการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงาน สามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Tax200%) โดยมาตรการภาษีนี้ เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อาทิ ERP (โปรแกรมบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร) CRM (โปรแกรมบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า) POS (โปรแกรมบริการ ณ จุดขาย) MRP (โปรแกรมบริหารจัดการและวางแผนการผลิต) และ Account (โปรแกรมบัญชี) เป็นต้น โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่า สำหรับค่าซื้อหรือจ้างทำ หรือค่าใช้บริการ Software as a service ที่จ่ายให้แก่ผู้ขาย หรือผู้รับจ้างทำ หรือผู้ให้บริการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ มาตรฐาน ISO/IEC 29110 สามารถต่อยอดไปสู่สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า มาตรฐาน ISO/IEC 29110 เป็นเครื่องมือสำคัญในการเปิดตลาดภาครัฐและเอกชน ดังนั้น สำนักงานได้เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับผู้ประกอบการผ่านมาตรฐานดิจิทัลในระดับสากลดังกล่าว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2561 – 2565 ได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่พัฒนาซอฟแวร์ (Basic Profile) และผู้ประกอบการที่พัฒนาซอฟต์แวร์ในลักษณะของบริการดิจิทัล (Service Delivery) ให้ได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 29110 แล้วทั้งสิ้น 313 บริษัท (ปี 2561 จำนวน 104 บริษัท ปี 2563 จำนวน 33 บริษัท ปี 2564 จำนวน 125 บริษัท และบริษัท ปี 2565 จำนวน 51 บริษัท) และสำนักงานจะเดินหน้ายกระดับผู้ประกอบการผ่านมาตรฐานดิจิทัลในระดับสากลต่อไป อันจะเป็นอาวุธสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล และนำไปสู่การส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน