หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวของเกาะสมุยกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้วยจุดขายอันโดดเด่นทั้งความสวยงามของทะเลและแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยพบว่าในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าเกาะสมุยกว่า 3.5 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 6 หมื่นล้านบาท อีกทั้งรัฐบาลยังมีแผนผลักดันเกาะสมุยสู่การเป็น Tourism Hub ฝั่งอ่าวไทย รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ ทำให้ความต้องการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของเกาะสมุยทั้งไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าจึงถือเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วน โดยมีแผนพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเคเบิลใต้ทะเลเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมอีก 1 เส้น
สุราษฎร์ธานีครองแชมป์ใช้ไฟภาคใต้
ในปี 2567 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 20.47 น. อยู่ที่ 3,143.8 เมกะวัตต์ (MW) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 12.19% โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของภาคใต้อยู่ที่ 551.4 MW หรือประมาณ 18% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด รองลงมาเป็นจังหวัดสงขลาและภูเก็ต ปัจจุบันกระแสไฟฟ้าหลักที่ใช้ภายในเกาะสมุยมาจากสายเคเบิลใต้ทะเลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขนาดแรงดัน 115 กิโลโวลต์ และ 33 กิโลโวลต์ จำนวน 4 วงจร สามารถจ่ายไฟฟ้ารวม 178.6 MW
เมื่อพิจารณาความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของเกาะสมุยและเกาะพะงันตั้งแต่ปี 2566 พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด-19 มากเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับสายเคเบิลใต้ทะเลบางส่วนมีอายุการใช้งานมายาวนานและเริ่มชำรุด จึงคาดว่าในปี 2570 ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงที่มีอยู่เดิมจะเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของเกาะสมุย
สร้างความมั่นคงพลังงาน สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
ดร.กัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ นายอำเภอเกาะสมุย ระบุว่า จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริการต่าง ๆ เกาะสมุยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้มีความพร้อมในทุกด้านมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านคมนาคม ระบบไฟฟ้า น้ำประปา และการจัดการขยะ เพราะที่ผ่านมาเกาะสมุยเคยต้องเผชิญกับวิกฤตไฟฟ้าดับทั้งเกาะจากสาเหตุเคเบิลใต้ทะเลชำรุดและต้องใช้เวลาซ่อมนานถึง 45 วัน เกิดความเสียหายต่อทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก แม้ปัจจุบันเกาะสมุยจะมีความเสถียรของระบบไฟฟ้าในระดับหนึ่ง ไม่มีการขาดแคลนของพลังงานไฟฟ้า แต่การเติบโตของเมืองและความต้องการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเกาะต่าง ๆ ทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าของเกาะสมุยเพิ่มมากขึ้น หากสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอในระยะยาวก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน พร้อมรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน “การก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าผ่านเคเบิลใต้ทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงให้เกาะสมุยก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี อีกทั้งยังเป็นการส่งต่อความมั่นคงด้านพลังงานไปยังเกาะพะงัน เกาะเต่า ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นของแหล่งท่องเที่ยวหลักของ จ.สุราษฎร์ธานี ได้เป็นอย่างดี” นายอำเภอเกาะสมุย กล่าวทิ้งท้าย
เร่งพัฒนาเคเบิลใต้ทะเล รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 เท่า
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเลขนาด 230 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงเกาะสมุยแห่งใหม่ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จำนวน 2 วงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการส่งไฟฟ้าไปยังเกาะสมุยและพื้นที่เกาะข้างเคียงอย่างเกาะเต่าและเกาะพะงันวงจรละ 200 MW ทำให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้มากกว่าปัจจุบันถึง 4 เท่า
การออกแบบระบบเคเบิลใต้ทะเลคำนึงถึงความมั่นคงและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ตั้งแต่การเลือกเส้นทางวางสายเคเบิลส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงไม่พาดผ่านแนวปะการังและหญ้าทะเล ไม่อยู่ในเส้นทางเดินเรือหรือบริเวณที่จอดเรือ ส่วนการติดตั้งสายเคเบิลใต้ทะเลจะใช้เทคโนโลยีแรงดันน้ำเซาะร่องพร้อมกับวางสายเคเบิลใต้น้ำฝังไว้ในพื้นทรายใต้ทะเลความลึกประมาณ 3-5 เมตร โดยขนาดร่องจะมีขนาดใหญ่กว่าสายเคเบิลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากนั้นร่องที่เซาะไว้จะคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติภายใน 10 วินาที จึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ยกเว้นบริเวณน้ำตื้นที่อาจเกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนทำให้น้ำขุ่นซึ่งจะมีการใช้ม่านดักตะกอนมาป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังเพิ่มเทคโนโลยี Online Sensor Monitoring เพื่อตรวจจับความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเคเบิลใต้ทะเลด้วย
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเลขนาด 230 กิโลโวลต์ของ
กฟผ. วงจรที่ 1 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2571 และ วงจรที่ 2 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2572 การสร้างความมั่นคงทางพลังงานซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเกาะสมุย สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกาะสมุยมุ่งสู่เป้าหมาย 1 ใน 10 เกาะที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก