กรุงศรีมองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.75-33.20 จับตาประชุมเฟด-ผลเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.75-33.20 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.85 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 5.3 พันล้านบาท ขณะที่ซื้อพันธบัตร 1.52 หมื่นล้านบาท ส่วนในเดือนตุลาคมเงินบาทอ่อนค่าลง 2.5% ซึ่งอยู่ในกลุ่มสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี เงินบาทอ่อนค่า 1.7% โดยเป็นการอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่นๆ อาทิ รูปีอินเดีย และรูเปียห์อินโดนีเซีย ซึ่งร่วงลง 13.6% และ 10.6% ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับยูโรและเยน ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนที่อ่อนแอสวนทางกับตัวเลขของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) คงนโยบายการเงินตามคาด
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า เหตุการณ์สำคัญจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยในปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองเสียงทั้งในสภาสูงและสภาล่าง แต่คาดว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เรามองว่า กรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ พรรคเดโมแครตจะกลับมาครองเสียงในสภาผู้แทนราษฎรแต่วุฒิสภาจะยังคงเป็นของรีพับลิกัน หากเกิดสถานการณ์นี้ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนลงเล็กน้อยและเป็นบวกต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ดี ผลกระทบอาจจำกัดเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่คาดไว้แล้วว่าจะเกิด Scenario นี้ ในทางกลับกัน เงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากมี Surprise คือ รีพับลิกันได้ครองทั้ง 2 สภาเช่นเดิม ซึ่งอาจทำให้นโยบายประชานิยมและการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะที่นักลงทุนจะจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 7-8 พฤศจิกายน คาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในช่วง 2.00-2.25% ก่อนจะปรับขึ้นในการประชุมเดือนธันวาคม โดยประเด็นสำคัญจะอยู่ที่การประเมินของเฟดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้ว่าข้อมูลตลาดแรงงานเดือนตุลาคมบ่งชี้ว่าจำนวนตำแหน่งการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 250,000 ตำแหน่ง ค่าจ้างเติบโตสูงสุดในรอบกว่า 9 ปี และอัตราการว่างงานทรงตัวที่ 3.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 49 ปี แต่ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ การปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในเดือน ตุลาคม และผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการค้าโลกอาจจำกัดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปี 2562

ข้อมูลเพิ่มเติม
ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์
โทร. 66-2-266-3011 ต่อ 5646