วันที่ 4 มีนาคม 2564: ฮอนด้าและยามาฮ่า ร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย จัดแถลงสรุปผลการวิจัย “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” จาก 1,000 กรณีศึกษา พบสาเหตุหลักเกิดจากความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ก่อนการเกิดอุบัติเหตุ การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการชนตัดหน้า และกลุ่มวัยรุ่นประสบอุบัติเหตุมากที่สุด พร้อมเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ทิศทางและมุมมองการลดอุบัติเหตุในอนาคต” หวังผนึกกำลังสานต่อเพื่อร่วมลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้แทนปลัดกระทรวงคมนาคมและอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมงานแถลง โดยมี มร.มาซายูคิ อิงาราชิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, มร.ทัตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และรศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ
โครงการวิจัยหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุภายใต้ชื่อ”โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย จากการริเริ่มและสนับสนุนโดยบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด วัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเหมาะสม โดยทำการวิจัยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 1,000 กรณีศึกษา ระหว่าง พ.ศ. 2559-2563
มร.มาซายูคิ อิงาราชิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “ฮอนด้าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยพันธกิจที่จะมุ่งสร้างสังคมที่ไร้อุบัติเหตุให้กับทุกคน เราตระหนักว่าการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนจะนำมาซึ่งความสำเร็จนี้ร่วมกัน ผมหวังว่าข้อมูลจากการวิจัยเชิงลึกนี้จะเป็นประโยชน์กับเครือข่ายการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการนำไปพิจารณาต่อยอดและปรับใช้กับการดำเนินงานของทุกท่านต่อไป”
มร. ทัตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัดกล่าวว่า “จากหลักการบริหารจัดการของยามาฮ่าในการดำเนินธุรกิจอย่างมีหลักจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไปในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และผมเชื่อว่าผลของการวิจัยที่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน”
รศ.ดร.กัณวีร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยขอขอบคุณ ฮอนด้าและยามาฮ่า ที่ร่วมริเริ่มและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยอุบัติเหตุเชิงลึกนี้ขึ้น พร้อมขอขอบคุณหน่วยงานร่วมวิจัยทุกภาคส่วน ที่สนับสนุนทำให้โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี”
โดย รศ.ดร.กัณวีร์ ได้แถลงสรุปผลปัจจัยสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสี่ด้านหลัก ได้แก่ด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ด้านทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่ ด้านรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุ และด้านสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม พร้อมข้อเสนอแนะโดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสี่ด้านและข้อเสนอแนะโดย TARC ขอบเขตการวิจัย “โครงการเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ด้วยสถานการณ์อุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีอัตราที่สูง การวิจัยครั้งนี้จึงมุ่งเน้นสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์จำนวน 1,000 กรณีศึกษา โดย 30% ของจำนวนนี้เป็นอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
1. ด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์
จากอุบัติเหตุทั้งหมด 1,000 กรณี พบว่าร้อยละ 53 มีสาเหตุเกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ รองลงมาร้อยละ 41 เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ ตามด้วยสาเหตุจากสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมจำนวนร้อยละ 4 และสาเหตุอื่นๆ จำนวนร้อยละ 2
ในกลุ่มอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 49 เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure) รองลงมาร้อยละ 32 เกิดจากผู้ขับขี่ตัดสินใจผิดพลาดขณะเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure) และร้อยละ 13 เกิดจากผู้ขับขี่ควบคุมรถผิดพลาด (Reaction Failure)
ในกลุ่มอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่รถยนต์ ร้อยละ 60 เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure) และร้อยละ 34 เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure)
2. ด้านทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่
จากอุบัติเหตุทั้งหมด 1,000 กรณี พบว่าร้อยละ 48 เป็นการชนที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ได้หลบหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการชนแต่อย่างใด (Collision Avoidance) ซึ่งผู้ขับขี่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพปกติไม่ได้ง่วงหรือเมาสุรา และขับขี่ด้วยความเร็วปกติ ระหว่าง 20-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การวิจัยยังพบว่าร้อยละ 41 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ และในอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้มีใบอนุญาตขับขี่ กว่าครี่งหนึ่งเป็นการชนที่ไม่ได้หลบหลีกหรือเบรกแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี โดยสาเหตุสส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะความผิดพลาดด้านการใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วหรือเพื่อหยุดรถ
3. ด้านรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุ
รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่การชนตัดหน้า โดยร้อยละ 80 เป็นการชนกับรถยนต์ที่เลี้ยวตัดหน้า ร้อยละ 66 เป็นการชนกับท้ายรถยนต์คันอื่น โดยอุบัติเหตุชนท้ายที่มีผู้เสียชีวิตมักเกิดในเวลากลางคืน และมีสัดส่วนของอุบัติเหตุที่ชนท้ายรถบรรทุกมากกว่าในเวลากลางวันในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ใช้ความเร็วสูงกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยถ้าเกิดเหตุในเวลากลางคืนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากกว่า
นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยในจำนวนนี้ ผู้เสียชีวิตร้อยละ 62 ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ และในการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะพบว่า ร้อยละ 66 เป็นผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย
4. ด้านสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม
สภาพถนนและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยพบว่าอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงสูงมักเกิดในเขตชานเมืองและชนบท และส่วนใหญ่เป็นถนนสายรอง โดยร้อยละ 24 เกิดบนทางร่วมทางแยกส่วนอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดบนถนนขนาด 4 ช่องจราจร มักเกิดขึ้นบนไหล่ทางซึ่งเป็นจุดที่ไม่ปลอดภัยหากใช้ในการสัญจร
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย
จากสาเหตุสำคัญที่พบ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืนโดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
1. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านการคาดการณ์อุบัติเหตุ อีกทั้งไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที และทำการควบคุมรถเพื่อหลบหลีกการชนได้ทันการณ์ จึงจำเป็นต้องทบทวนหลักสูตรการอบรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้มุ่งเน้นเพิ่มทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจและการควบคุมรถเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
2. ควรทบทวนขั้นตอนในการออกใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยแยกการอบรมและข้อสอบระหว่างผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ขับรถยนต์ออกจากกัน และควรผ่านการอบรมขับขี่ที่ปลอดภัยในภาคทฤษฎีซึ่งมีเนื้อหาเน้นการอบรมทักษะด้านการคาดการณ์อุบัติเหตุ รวมถึงออกแบบขั้นตอนการสอบภาคปฏิบัติให้เสมือนกับการขับขี่บนท้องถนนจริงร่วมกับรถประเภทอื่นๆ
3. ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ทำผิดกฎจราจร เช่น การดัดแปลงรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัย การไม่สวมหมวกนิรภัย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องปรามและตรวจจับให้มากขึ้น นอกจากนี้ควรควบคุมการจำกัดความเร็วของยานยนต์ทุกประเภทอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของยานพาหนะทุกคันบนท้องถนน
4. ควรผลักดันนโยบายการออกแบบถนนให้คำนึงถึงความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ โดยมุ่งเน้นการลดจุดตัดของกระแสจราจรระหว่างรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (เช่น จุดกลับรถ ทางแยกและทางเข้าออกต่างๆ) การลดความเร็วของกระแสจราจรในเขตชุมชน และการปรับปรุงระยะการมองเห็นตามทางแยก
5. ควรส่งเสริมและรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หมั่นตรวจสอบดูแลรักษาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่นหลอดไฟหน้า ไฟท้าย ระบบเบรก และสภาพยาง
6. ควรพิจารณาจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุแห่งชาติ เพื่อให้ได้ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เพียงพอและในเชิงลึก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุดต่อไป
นอกจากการแถลงผลดังกล่าว ภายในงานยังได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางและมุมมองการลดอุบัติเหตุในอนาคต” เพื่อให้ผลการวิจัยจากโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุขยายประโยชน์ต่อสังคมต่อไป โดยมี 4 หน่วยงานสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้ผลการวิจัยถูกนำไปต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรม ให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด สะท้อนมุมมองในด้านต่างๆ โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, นายฐิติพัฒน์ ไทยจงรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบ, ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), และ นายเลิศศักดิ์ นววิมาน ประธานคณะทำงาน ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
Post Views: 449