นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กล่าวว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นลง ส่งผลกระทบต่อ ความสมดุลภายในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ตามหลักและทฤษฎีของศาสตร์การแพทย์แผนไทย มีการระบุความชุกของการเกิดโรคในช่วงฤดูหนาวว่า เมื่อสภาพภูมิอากาศลดต่ำลง มักจะส่งผลให้ธาตุน้ำในร่างกายเกิดความแปรปรวนหรือเสียสมดุลได้ง่าย ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือร่างกายไม่สามารถปรับตัวตามสภาพอากาศได้ทันจะป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับธาตุน้ำ เช่น หวัด น้ำมูกไหล ภูมิแพ้อากาศ หากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น และผลจากการแปรปรวนของธาตุน้ำ จะทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เกิดอาการไอ จาม คัดจมูก ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ส่งผลต่อธาตุไฟในร่างกายเสียสมดุลไปด้วย เกิดอาการไข้ เจ็บคอหรือเกิดอาการอักเสบตามมา
การสร้างเกราะป้องกันความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นช่วงฤดูหนาว ควรเน้นการบริโภคอาหาร ที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสเปรี้ยว รสขม และรสเผ็ดร้อน เนื่องจากสมุนไพรรสเปรี้ยว จะช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ ได้แก่ มะเขือเทศ มะนาว มะขาม ผักติ้ว ใบชะมวง ส่วนสมุนไพรรสขม ช่วยแก้ไข้ ต้านการอักเสบ ได้แก่ มะแว้งต้น มะแว้งเครือ มะเขือพวง ขี้เหล็ก และสมุนไพรรสเผ็ดร้อนจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นของร่างกาย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ได้แก่ ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ แมงลัก กระเทียม ด้วยเหตุนี้เอง สมุนไพรรสเปรี้ยว รสขม และรสเผ็ดร้อน จึงช่วยเสริมเกราะป้องกันป่วยช่วงฤดูหนาวได้ เมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ แกงส้ม ต้มยำ ยำผักสมุนไพร น้ำพริกผักลวก ไก่ผัดขิง ฯลฯ ส่วนน้ำสมุนไพร ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำกระเจี๊ยบ และน้ำอัญชันมะนาว
นอกจากนี้ ตัวเราเองก็ควรรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ด้วยการสวมเสื้อหนา ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่หนาวเย็น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนพักผ่อนวันละ 6 – 8 ชั่วโมง และควรออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ