การประชุมระดับสูงสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๗ ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย ดร. อรนุชหล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๖ (CBD COP 16)และการประชุมทวิภาคี เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีอนุสัญญาฯ พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศและภาคเอกชนเพื่อดำเนินงานหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้ภายใน ปี ค.ศ. ๒๐๓๐ รวมถึงเพื่อให้มนุษยชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐
เมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๗ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของการประชุม CBD COP 16 ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้นำประเทศ รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมความหลากหลายทางชีวภาพ การเงินและการคลัง มากกว่า ๑๔๐ ประเทศทั่วโลก ซึ่งหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการดำเนินงานตามเป้าหมายระดับชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกับประชาคมโลกในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่การขยายพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย 30×30 ภายในปี ค.ศ. 2030การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงานกับภาคีอนุสัญญาฯ เกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model)การจัดตั้งกลไกที่เหมาะสมต่อการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม ข้อมูลดิจิทัลของลำดับพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมการริเริ่มกลไกเพื่อเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ความหากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
       ในห้วงการประชุมระดับสูง คณะผู้แทนไทยได้ใช้โอกาสนี้แสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ อาทิการหารือทวิภาคีกับ Ms. Rita el Zaghlou ผู้อำนวยการกลุ่ม High Ambition Coalition for Nature and People (HAC for N & P) ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา Matchmaking Platform ซึ่งเป็นเครื่องมือให้สมาชิก ๑๒๐ ประเทศ จับคู่ความต้องการกับองค์กรความร่วมมือต่าง ๆ กว่า ๖๐ องค์กรทั่วโลก เพื่อดำเนินงานเพิ่มพื้นที่ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศทั้งทางบก แหล่งน้ำในแผ่นดิน และทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยประเทศไทยได้เสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานเรื่องพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) การเตรียมดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง การจัดทำแนวทางการสร้างแรงจูงใจ กลไกทางการเงิน การติดตามและประเมินผลการจัดตั้งพื้นที่ OECMs ในระยะยาว ทั้งนี้ ผู้อำนวยการกลุ่ม HAC for N & P จะได้นำข้อเสนอของไทยเข้าสู่ Matchmaking Platform ต่อไป
การหารือร่วมกับเลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับชุมชน โดยเน้นย้ำถึง ความสำคัญของนำเครื่องมือทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน การดำเนินงานพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) และแนวคิดในการดำเนินงานด้าน biodiversity credit ทั้งนี้ ในระยะเริ่มต้นจะได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) และจัดเวทีร่วมกันเพื่อเผยแพร่แนวคิด องค์ความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ได้รับจาก COP16 ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
การหารือทวิภาคีกับ Ms. Elke Steinmetz Head of Division for International Cooperation on Biodiversity กระทรวงสิ่งแวดล้อมคุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV) และ Mr. Mathias Bertram องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยมีความเห็นร่วมกันที่จะมุ่งสานต่อการเชื่อมโยงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย การดำเนินงานด้านการถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และการเสริมสร้างสมรรถนะและความตระหนักด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับการดำเนินงานอนาคตไทยได้หยิบยกประเด็นที่ต้องการสนับสนุน เช่น การถ่ายทอดแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (NBSAP) ไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น การวิเคราะห์ช่องว่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงของคลังข้อมูลทรัพยากรทางชีวภาพของประเทศไทย (TH-BIF) ทั้งนี้ เยอรมัน เสนอให้ไทยจะเข้าร่วมความริเริ่มต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การหารือถึงการสนับสนับสนุนในอนาคต อาทิ การเข้าร่วมกลุ่มการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน กลุ่มหุ้นส่วนเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ