ตลอด 6 ทศวรรษที่ “เขื่อนภูมิพล” ทำหน้ากักเก็บน้ำเพื่ออำนวยประโยชน์หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนตั้งแต่ลำน้ำปิงจรดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่นำมาใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า และยังประโยชน์อีกมากมายต่อทั้งคนไทยและการพัฒนาประเทศ
สายธารแห่งความสว่างไสว
จากก้าวแรกเมื่อปี 2495 รัฐบาลไทยมีแนวคิดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนักและราคาแพง จึงได้ทำการสำรวจและพบว่าพื้นที่ลำน้ำปิงบริเวณหุบเขาย่านรี หรือ ยันฮี ในอำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์ที่ชื่อว่า “เขื่อนยันฮี” ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทยพร้อมกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
เขื่อนภูมิพลขณะเริ่มก่อสร้าง
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานพระปรมาภิไธย ให้เป็นชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล” อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดเขื่อนและทรงกดปุ่มขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1 เข้าระบบเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2507 โดยมีพระราชดำรัสไว้ว่า
“โครงการอเนกประสงค์โครงการแรกของประเทศไทยนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวใหม่ให้ไพศาลออกไป ปัจจุบันน้ำเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิต และน้ำกับไฟฟ้า ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชีวิต”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล
อรรถประโยชน์อเนกอนันต์
ก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพลผู้คนปลายน้ำที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวจะปลูกได้เพียงปีละครั้งเพราะประสบปัญหาการขาดน้ำ ไม่เพียงพอต่อการทำนา แต่หลังจากที่เขื่อนสร้างเสร็จ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้เพิ่มปีละ 2 – 3 ครั้ง ทำให้พื้นที่ปลายน้ำทอดยาวไปจนถึงภาคกลางกว่า 10 ล้านไร่กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ในช่วงหน้าแล้งที่น้ำทะเลหนุนสูงจนเกิดปัญหาน้ำกร่อย เกษตรกรไม่สามารถนำน้ำมาทำการเกษตรได้ เขื่อนภูมิพลได้ทำหน้าที่ระบายน้ำช่วยผลักดันน้ำเค็ม ส่วนในฤดูฝนลุ่มเจ้าพระยามักประสบกับปัญหาน้ำท่วม บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย อ่างเก็บน้ำของเขื่อนได้ทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับคนกลางน้ำอย่างชุมชนรอบเขื่อน นอกจากมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้งการสร้างอาชีพให้ชาวเรือแพนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามของทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ขายสินค้าชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ ทำให้ชุมชนมีรายได้พึ่งพาตนเองได้
ส่วนผู้คนต้นน้ำ ทั้งชาวอมก๋อย หรือชาวแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่เดิมคนต้นน้ำเลี้ยงชีพโดยการหาของป่า ทำไร่หมุนเวียนบนที่สูง บางส่วนก็เข้าป่าล่าสัตว์ หลังจากมีเขื่อนคนต้นน้ำก็ได้รับการประสานประโยชน์และพัฒนาชุมชนร่วมกันกับคนกลางน้ำและปลายน้ำ สู่อาชีพและการใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์กับป่า ทั้งการแบ่งปันความรู้ในการทำอาชีพเกษตรกรรมที่เหมาะสม เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกไผ่ กาแฟ รวมถึงร่วมกันปลูกป่าและสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อรักษาป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์
น้ำทุกหยาดหยดของเขื่อนภูมิพลแห่งนี้ เมื่อปล่อยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 1,200 ล้านหน่วย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนภูมิพล ผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” ในช่วงกลางวัน ร่วมกับการผลิตไฟฟ้า “พลังน้ำ” ในช่วงกลางคืน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของเทศได้มากยิ่งขึ้น และสนับสนุนการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศอีกด้วย
6 ทศวรรษที่ผ่านมา เขื่อนภูมิพลได้ทำหน้าที่ “พลังของน้ำ” สร้างประโยชน์ สร้างอาชีพ สร้างความสุข สร้างรอยยิ้มหล่อเลี้ยงคนไทยอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ทศวรรษเขื่อนแห่งนี้จะยังคงยืนหยัดในภารกิจ สร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนสมกับบทบาทสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็น “เขื่อนของพ่อ” ไปตราบนานเท่านาน