ทีมไทยพร้อมเปิด 125 เส้นทางท่องเที่ยว Carbon Neutral Tourism Tour Packages พร้อมขายโดย TEATA ภายใต้ทุนวิจัยจาก บพข. สกสว. โดยกองทุน ววน. ในงาน ITB Berlin 2024 รวม 42 จังหวัด 17 เมืองหลัก 25 เมืองรอง และจะขยายครบทุกจังหวัดในกลางปี 2567 นี้ ผลสัมฤทธิ์จากการวิจัยด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่บูรณาการงานทำงานข้ามกระทรวง 3 กระทรวง 8 องค์กร ต่อเนื่องกว่า 3 ปี ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งทีมวิจัย ระเบียบวิธีการ เครื่องมือ พี่เลี้ยง หลักสูตรอบรม และผู้ใช้ประโยชน์ ครบ เข้าสู่การขยายผลเต็มตัว และเตรียมความพร้อมสู่การดำเนินการระดับ Net Zero และ Nature Positive ที่เป็นขั้นสุดในอนาคต
งาน Internationale Tourismus Borse หรือ ITB Berlin เป็นมหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 57 ณ ศูนย์การจัดนิทรรศการ Messe Berlin Exhibition Ground กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2567 พร้อมการสนับสนุนและเชื่อมโยงในภาคพื้นยุโรปจาก SWITCH-ASIA แผนงานด้านการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเกือบ 300 ล้านยูโรตั้งแต่
พ.ศ. 2550 ที่มุ่งส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว การลดความยากจนและการลดภาวะโลกร้อนในเอเชีย
ปาริชาต สุนทรารักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การยกระดับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยในเครือข่ายระดับโลก” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. และอุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย เผยว่า TEATA นำโดย คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมฯ ที่เน้นแนวทางการทำงานอย่างบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และสมาคมทางการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2564 สมาคมฯ ได้ทำงานร่วมกับ บพข. สกสว. ทั้งในฐานะที่เป็นนักวิจัย และในฐานะผู้ร่วมสนับสนุนในรูปแบบตัวเงิน (In-cash) และไม่เป็นตัวเงิน (In-kind) กับงานวิจัยอื่นๆ ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เพื่อนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สามารถเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยวและดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงมายังประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองรองทางการท่องเที่ยว ด้วยเป้าหมายดังกล่าวผู้ประกอบการที่เป็นภาคปฏิบัติการจะชี้ให้เห็น Pain Point ที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จะใช้งานวิจัยในการหาแนวทาง Solution แนวทางการทำงานร่วมกันนี้โดย บพข. ไม่เพียงแต่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนจากภาควิชาการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการนำเสนอองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว นำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นในเครือข่ายระดับนานาชาตินี้ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตที่มั่นคงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยรากฐานองค์ความรู้จากภาคการศึกษา
ปีนี้ทีมไทยจัดเต็มเตรียมพร้อมที่จะไปร่วมงาน ITB โดยได้รับการสนับสนุนจาก EU SWITCH-ASIA ในการเชื่อมโยงกับยุโรป รวมถึงเจ้าภาพหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สนับสนุนพื้นที่บูทใหญ่ให้กิจกรรมภายในงาน นอกจากมีการพบกับคู่ค้าในภาคพื้นยุโรปที่ได้นัดหมายไว้หลายบริษัท และขึ้นเวทีบรรยายแล้ว ปีนี้จะมีการลงนาม MOU กับ 5 องค์กรพันธมิตรใหม่ในยุโรปเพื่อส่งเสริมรายการนำเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์กว่า 125 เส้นทาง กระจายทั่วประเทศ ทั้งเมืองรอง/เมืองหลัก ชุมชน ที่มีกระบวนการรับรองครบ 3 ระดับ ได้แก่ (1) การรับรองตนเองผ่าน Zero Carbon Application (2) การรับรองแบบ 2nd party กับคู่ค้า หรือเลือกยกระดับ และ (3) การรับรองแบบ 3rd party กับ TGO หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ด้วยระเบียบวิธีการคำนวณของไทย เครื่องมือคำนวณของไทยโดย TGO มีกระบวนการเตรียมความพร้อม อบรม ลงมือทำโดยมีพี่เลี้ยงช่วย จนถึงการส่งเสริมการตลาด จากทีมวิจัย บพข. สกสว. ภายใต้งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ที่มีส่วนสำคัญยิ่ง นิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น นักวิจัยและสมาชิกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย กล่าวเสริม
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นแนวทางที่โลกกำลังให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ในแง่ของการบูรณาการงานวิจัยเข้ากับการพัฒนาท่องเที่ยวในทิศทางที่เน้นความยั่งยืน เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่บรรยากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนให้เหลือศูนย์ โดยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยราว 200 คน จาก 20 มหาวิทยาลัย เครือข่ายผู้ประกอบการ ชุมชนในประเทศไทย ราว 450 ราย และหน่วยทุนวิจัย ที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านการเพิ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง รวมทั้งการเพิ่มรายได้ให้กับเมืองรองทางการท่องเที่ยวที่ ต่อไปนี้การบูรณาการงานวิจัยจะไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เล่าให้เราฟังว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดย สกสว.และบพข. เป็นหน่วยทุนวิจัย ที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงการวิจัยทางวิชาการเข้ากับภาคเอกชน โดยการวิจัยช่วยให้ภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วยการเชื่อมช่องว่างที่เกิดขึ้นในการทำงานระหว่างภาควิชาการและภาคปฏิบัติ โดยภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น คือผู้ที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ พร้อมความเข้าใจทางด้านการดูแลรักษามรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม และอนาคตที่สดใสของการท่องเที่ยวไทยอีกด้วย
บพข. โดยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กองทุน ววน. ตระหนักดีว่าเส้นทางสู่ความยั่งยืนไม่ใช่การเดินทางที่สามารถทำได้เพียงลำพัง ต้องใช้แนวร่วมที่มีการบูรณาการ ผสานจุดแข็งและทรัพยากรของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยวิสัยทัศน์ของเราคือการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่เพียงแต่แข่งขันได้เท่านั้น แต่ยังให้ความเคารพและอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมของเราด้วย เราใช้กระบวนการวิจัยศึกษาพฤติกรรมของตลาด การพัฒนามาตรฐานสำหรับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และการสร้างสรรค์แนวปฏิบัติที่ยั่งยืน อันเป็นรากฐานสู่ความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้เราจึงส่งเสริมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบัน องค์กรต่างๆทั่วประเทศ รวมถึงนานาชาติ จากความร่วมมือเหล่านี้ทำให้มั่นใจได้ว่า แนวทางการทำงานของ แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.มีพื้นฐานมาจากวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือความพยายามร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อสร้างมาตรฐานสากลสำหรับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในอนาคต
สำหรับการร่วมเดินทางของคณะนักวิจัย และผู้บริหาร ตามที่ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแฟรงค์เฟิร์ท ประเทศเยอรมนี ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาร่วมงานกันมาอย่างต่อเนื่องกับ ททท.กว่า 10 ปี แล้ว นอกจากนี้ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลง 5 ฉบับ ที่ TEATA จะต้องลงนามร่วมกับ 5 องค์กรพันธมิตรระดับโลก ในวันที่ 6 มีนาคม 2567 ได้แก่ (1) ATTA (Adventure Travel Trade Association) (2) Planeterra (3) EXO Foundation (4) FAR และ (5) Green Destinations Foundation โดย MOU แต่ละฉบับเกิดจากการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากภาควิชาการ หรือนักวิจัย 200 คน จาก 20 มหาวิทยาลัยที่ บพข. สนับสนุนทุนวิจัยที่ร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมในด้านอุปทาน และให้ข้อมูลเพื่อสร้างกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย
เห็นได้ชัดเจนว่า การลงนาม MOU ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธีการเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณของการให้คำมั่นที่บอกถึงความพร้อมในการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรระดับโลก ที่ครอบคลุมข้อมูลเชิงลึกทางวิชาการ และเสริมศักยภาพภาคเอกชนในการสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ที่จะเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนอีกด้วย
ITB Berlin มีทั้งบูทหลักและบูทเสริม มีกิจกรรมการบรรยาย เจรจาธุรกิจ และการลงนาม MOU กับ 5 องค์กรคู่ค้าใหม่ (ต่อเนื่องมาจาก WTM LONDON 2023 ) คณะผู้วิจัยจึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมว่าอย่าตกขบวน หันมาทำรายการนำเที่ยวที่รักษ์โลกและมีการชดเชยคาร์บอนด้วยคาร์บอนเครดิตของไทย เริ่มจากส่งเสริมให้เริ่มต้นที่ 7 Greens (ททท.) สมัคร TAT Star Hug earth (หอการค้าไทย) การจัดการยั่งยืน (TCEB) และมาตรฐานของ กรมการท่องเที่ยว (DOT) ต่างๆ CBT thailand จากนั้นเริ่มที่การใช้ App Net zero man และ Zero carbon ของ TGO ที่กองทุน ววน. และบพข. ให้การสนับสนุน เสร็จแล้วก็เรียนรู้โครงการ LESS (TGO) และการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว รายที่พร้อมและต้องการความเป็นทางการมากขึ้นจะเข้าสู่การรับรอง CFP เต็มรูปแบบต่อไป