นายโสรัจจ์ แรกสกุลชัย ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีเสถียรภาพและความมั่นคงแล้ว ยังมีภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีที่เกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ ซึ่งมีผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก ระบบประกันภัยจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้กับครอบครัวผู้ประสบภัย ดังนั้นในปี 2557 สำนักงาน คปภ. จึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 39/2557 เรื่อง ให้บริษัทประกันชีวิตรายงานกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ และคำสั่งนายทะเบียนที่ 40/2557 เรื่อง ให้บริษัทประกันวินาศภัยรายงานกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ โดยกำหนดให้บริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัยรายงานข้อมูลต่อนายทะเบียน กรณีที่เกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ เช่น จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต จำนวนความเสียหาย ข้อมูลการรับประกันภัย ความคุ้มครองและสถานะของกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงาน คปภ. ได้รับทราบข้อมูลและติดตามการชดใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยและผู้มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยอย่างทันท่วงที ในขณะเดียวกัน
สำนักงาน คปภ. ได้มีการพัฒนาระบบรายงานอุบัติภัยกลุ่มหรืออุบัติภัยรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ซึ่งระบบดังกล่าวมีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในส่วนสำนักงาน คปภ. เขต/จังหวัด และบริษัทประกันภัยทุกแห่ง เพื่อรองรับการรายงานและติดตามการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม คำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปและมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ในการนี้ สำนักงาน คปภ. โดยสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ จึงได้ดำเนินการศึกษาและพิจารณายกร่างคำสั่งนายทะเบียนฉบับใหม่ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและบริบทการกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีหลักการอันเป็นสาระสำคัญ คือ
1. ปรับปรุงนิยาม คำว่า “อุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่” ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทการกำกับดูแลธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยที่มีความแตกต่างกัน เช่น กรณีประกันชีวิตไม่ควรมีการกำหนดมูลค่าความเสียหายตั้งแต่
5 ล้านบาท เนื่องจากชีวิตไม่อาจประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ กรณีประกันวินาศภัย คำสั่งเดิมกำหนดให้ “อุบัติภัยที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 5 ล้านบาท” ควรพิจารณาปรับปรุงมูลค่าความเสียหายให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในเบื้องต้นเห็นควรเพิ่มมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 10 ล้านบาท รวมถึงแก้ไขปรับปรุงขอบเขตกรณีอุบัติภัยที่สื่อมวลชนให้ความสนใจเสนอข่าวสาร โดยเพิ่มเติมข้อความว่า “ตามที่สำนักงานแจ้งให้ทราบเป็นรายกรณี” เพื่อให้สำนักงาน คปภ. ใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ 2. ปรับปรุงการรายงานข้อมูลต่อนายทะเบียนเมื่อเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ โดยกำหนดเพิ่มเติมให้บริษัทประกันภัยจะต้องแจ้งรายชื่อผู้ประสานงานของบริษัทประกันภัยและข้อมูลการติดต่อ ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงาน คปภ. สามารถประสานงานและติดตามข้อมูลการเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 3. ปรับปรุงช่องทางการรายงานข้อมูลต่อนายทะเบียน จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นให้รายงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามช่องทางและวิธีการที่สำนักงาน คปภ. กำหนด และ 4. ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการรายงานผลการดำเนินงานชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการรายงานดังกล่าวจะต้องมีข้อมูลอย่างน้อย เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นและความคืบหน้าการดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งเพิ่มเติมข้อกำหนดรองรับกรณีบริษัทประกันภัยไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนก่อนครบกำหนดระยะเวลาโดยต้องระบุเหตุผลและความจำเป็นมาด้วย
ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนในการปรับปรุงคำสั่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวในขณะนี้ได้รับความเห็นชอบในหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างนำร่างคำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ในขณะเดียวกัน สำนักงาน คปภ. ได้มีการเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากรเพื่อรองรับการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยและสะดวกยิ่งขึ้น
“การแก้ไขปรับปรุงคำสั่งนายทะเบียนในครั้งนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. กรณีเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ ให้สามารถบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยได้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบกรมธรรม์ การประสานความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยในการลงพื้นที่เกิดเหตุ รวมถึงการติดตามให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. จะดำเนินการต่อยอดพัฒนาระบบการรายงานฯ ทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องและเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดภาระ และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับภาคธุรกิจประกันภัยอย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์” กล่าวในตอนท้าย