นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นำคณะสื่อมวลชน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 โดยมี นายสมเจต ประพันธ์บัณฑิต รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ บรรยายความเป็นมาและความคืบหน้าของการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง และนายสมัย แสงชาติ ประธานชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) บรรยายถึงการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในการพัฒนาชุมชน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ณ บริเวณที่ตั้งโครงการ ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรและเยี่ยมชมโครงการที่น่าสนใจของการเคหะแห่งชาติ ประจำปี 2566 เพื่อนำเสนอโครงการที่น่าสนใจของการเคหะแห่งชาติให้กับสื่อมวลชนได้สัมผัสและลงพื้นที่จริงอย่างใกล้ชิด รวมถึงเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างการเคหะแห่งชาติกับสื่อมวลชนอีกด้วย ซึ่งในปี 2566 นี้ การเคหะแห่งชาติได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 อาคารแปลง G ที่นับว่าเป็นมหากาพย์ของการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง โดยใช้ระยะเวลากว่า 16 ปี จึงจะประสบผลสำเร็จ
จุดเริ่มต้นของชุมชนดินแดงคือการเคหะแห่งชาติรับโอนแฟลตดินแดงมาจากกรมประสงเคราะห์
ในปี 2516 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 60 ปี ทำให้อาคารมีสภาพทรุดโทรม การเคหะแห่งชาติจึงได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ซึ่งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567) ให้เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชุมชนดินแดง (แฟลตดินแดง) เดิมเป็นอาคาร 5 ชั้น 64 อาคาร การเคหะแห่งชาติจึงได้นำร่องโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 1 อาคารแปลง G จำนวน 334 หน่วย ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและบรรจุผู้อยู่อาศัยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมระยะที่ 2, 3 และ 4
สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) มีผู้อยู่อาศัยครบเต็มจำนวน 334 หน่วย มาเป็นระยะเวลา 5 ปี การเคหะแห่งชาติได้ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยให้ผู้อยู่อาศัยร่วมกันจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่ กลุ่มเกษตรอาสาพอเพียง ทำกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษอยู่บริเวณดาดฟ้าชั้นที่ 28 สำหรับบริโภคและนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นค่าแรงให้กับสมาชิกชมรมที่หมั่นดูแลแปลงผัก รวมถึงซื้อเมล็ดพันธุ์เพิ่มเติมเพื่อต่อยอดโครงการ กลุ่มคัดแยกขยะรีไซเคิล จัดตั้งขึ้นเพื่อลดปริมาณขยะในชุมชนและสร้างวินัยในการออมให้กับสมาชิก ถือเป็นสวัสดิการชุมชนเพื่อนำเงินส่วนที่ได้จากการขายขยะมาช่วยเหลือสมาชิกเมื่อเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต นอกจากนี้การเคหะแห่งชาติได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดให้มีศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (อาคารแปลง G) ได้รับบริการการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนอีกด้วย
นายทวีพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) แล้ว ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติกำลังดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 สูง 35 ชั้น จำนวน 1 อาคาร รวม 612 หน่วย มีความคืบหน้าการก่อสร้างได้ 72.99% เร็วกว่าแผน 7.33% (ณ 31 สิงหาคม 2566) ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานด้านสถาปัตยกรรมและงานระบบ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2567 โดยอาคาร D1 ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นทุกกระบวนการ ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้างอาคาร โดยนำประสบการณ์ในอดีตมาพัฒนาและแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือมุ่งเน้นเรื่องการก่อสร้างที่มีคุณภาพ และใส่ใจทุกรายละเอียด ทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงของตัวอาคาร รวมทั้งคำนึงถึงแนวคิดด้านอารยสถาปัตยกรรม (Universal Design) ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ทุกเพศทุกวัย ผู้สูงอายุ คนพิการ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน โดยออกแบบให้โถงและทางเดินภายในอาคารสามารถระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ และแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงตัวอาคาร และนอกจากในส่วนห้องพักอาศัยแล้ว ยังมีสวนและพื้นที่สีเขียวบริเวณชั้น 7 ชั้น 24 และชั้นดาดฟ้า เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจากการออกแบบอาคารทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน (Building Energy Code) หรือ BEC Awards 2018 ในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2, 3 และ 4 รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อปี พ.ศ.2561
“โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองของการเคหะแห่งชาติ เริ่มต้นจากชุมชนดินแดงและมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยการเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นหลัก ทั้งยังได้ถอดบทเรียนจากชุมชนดินแดงไปสู่โครงการฟื้นฟูเมืองอื่น ๆ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง เพื่อให้ทุกชุมชนได้รับการพัฒนา และผู้อยู่อาศัยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” นายทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย