สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2023 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2566 ในรูปแบบ onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ อาคาร วช.1 และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom การถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นเป็นวันที่แปดใน “ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สำหรับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเกษตรจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม โดยในปีงบประมาณ 2567 วช. เปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ดังนี้ P11(S2) พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ขจัดความจน และลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย 3 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) กลุ่มเรื่องการเพิ่มมูลค่าไม้ผล 2) กลุ่มเรื่องการเพิ่มมูลค่าไม้ดอกไม้ประดับ และ 3) กลุ่มเรื่องการเพิ่มมูลค่าพืชผัก P21(S4) ยกระดับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้น ประกอบด้วย 2 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) กลุ่มเรื่องสิ่งทอเกษตรสีเขียว และ 2) กลุ่มเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพและจุลินทรีย์
ทั้งนี้กิจกรรมภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2567” โดยมีผู้ร่วมเสวนาและประเด็นเสวนา ดังนี้
1) ประเด็น “นโยบายและการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและการเกษตร” โดย รศ. ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต
2) ประเด็น “นวัตกรรมยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง” โดย ศ. ดร.กมล เลิศรัตน์
3) ประเด็น “เศรษฐกิจจุลินทรีย์” โดย รศ. ดร.สุทธิพันธุ์ แก้วสมพงษ์
4) ประเด็น “เทคนิคการเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม” โดย นางสุนันทา สมพงษ์
นอกจากนี้ยังมีนำเสนอวิดีทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ NRIIS โดย นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นางสาวศยามล ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและการเกษตร โดย นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผศ.ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ คุณณวิสาร์ มูลทา I Love Flower Farm จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการวิจัยที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร สู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ตลอดจนแนวทางการเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ประกาศรับข้อเสนอในแต่ละปี
สำหรับการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. เปิดรับตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2566 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เวลา 18.00 น. และหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 18.00 น. โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th