กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ นำโดย คุณฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ร่วมกับศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) โดย ผศ.ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ ผู้อำนวยการโครงการ STEM Resources and Capacity Building ด้วยการสนับสนุนโดยโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Pre-Competition Teacher Workshop ความรู้ วัคซีนสู้โรค MICROBIOLOGY SCHOOLS COMPETITION Vaccines: fighting disease ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 – 3 กุมภาพันธ์ 2566 ในรูปแบบ hybrid ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และ online ผ่านระบบ Zoom เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดกิจกรรมการทดลองทางจุลชีววิทยาให้แก่ครูไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ หรือ facilitator เพื่อถ่ายทอดกิจกรรมการทดลองให้แก่ครูที่เข้าร่วมการอบรมจาก 11 ประเทศ และนำความรู้ไปประยุกต์สอนในชั้นเรียน โดยมีกำหนดจัดอบรมรอบจริง TEACHER WORKSHOP AND STUDENT VIDEO COMPETITION Vaccines: fighting disease ในวันที่ 20 – 21 และ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 ให้แก่ครูเครือข่ายศูนย์ SEAMEO STEM-ED จาก 11 ประเทศในอาเซียน และติมอร์ ตะวันออก เพื่อเป็นที่ปรึกษาโครงการประกวดการทำสื่อวีดิทัศน์ของนักเรียนและส่งผลงานประกวดในหัวข้อ Vaccines: fighting disease
สำหรับการอบรมในรอบ Pre-Competition Teacher Workshop เป็นการรับชมวีดิทัศน์ความรู้ทางด้านจุลชีววิทยา ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงกระบวนการผลิตวัคซีน จาก Dr. Margaret Whalley ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของศูนย์ SEAMEO STEM-ED ซึ่งประกอบด้วยวีดิทัศน์ เรื่อง จุลินทรีย์คืออะไร (What are microbes?) เชื้อโรคที่มองไม่เห็น(The invisible enemy) การต่อสู้ของร่างกาย: การป้องกันด่านแรก (The body fights back: first lines of defence) การต่อสู้ของร่างกาย: ค้นหาและทำลาย (The body fights back: find and destroy!) และ การสอนให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค: วัคซีน (Teaching the body to fight infection: vaccines)
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านจุลชีววิทยาจาก สวทช. นำทีมโดย ดร.นันท์ชญา วรรณเสน ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในการให้ความรู้เพิ่มเติมและให้คำแนะนำระหว่างการอบรมด้วย
ในส่วนของกิจกรรมการทดลองทางด้านจุลชีววิทยา นางสาวปัณรสี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ประสานงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย และทีมวิทยากรจากฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ได้นำกิจกรรมการทดลองที่หลากหลายให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองทำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้สำหรับวันอบรมจริง และนำไปประยุกต์สอนในชั้นเรียน โดยมีกิจกรรมการทดลอง ได้แก่ การทำโมบายจุลินทรีย์ (Making a microbe mobile) เพื่อรู้จักตัวอย่างของจุลินทรีย์และเรียนรู้เรื่องขนาดของจุลินทรีย์ การทำขนมปัง (Making bread) เพื่อเรียนรู้หลักการทำงานของยีสต์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ประโยชน์ในการทำอาหาร การสร้างโมเดลอะดีโนไวรัส (Make your own adeno virus) การทดลองเรื่องเราเป็นหวัดได้อย่างไร (How do we catch colds) การทดลองเรื่องการโจมตีเชื้อโรคของแอนติบอดี้ (Antibody attack) การทดลองเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่คืออะไร (What is herd immunity?) และการทดลองเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ทำงานอย่างไร (How herd immunity works?)
นางสาวจุฑามาศ มีสุข ครูจากโรงเรียนอนุกูลนารี จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่ารู้สึกประทับใจ และดีใจมากที่ได้มาเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ นอกจากได้รับความรู้ทางด้านจุลชีววิทยาและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับทั้งในส่วนของคลิปวีดิทัศน์และกิจกรรมการทดลองไปประยุกต์ใช้จัดกิจกรรมในชั้นเรียนได้อีกด้วย ซึ่งกิจกรรมการทดลองนั้นน่าสนใจมาก เพราะได้ลงมือทำด้วยตนเอง และทำให้เข้าใจเนื้อหาความรู้ได้ดียิ่งขึ้น
ด้านนางสาวหทัยชนก ชนะชัย ครูจากโรงเรียนพิมายวิทยา จ.นครราชสีมา ได้กล่าวว่ากิจกรรมการทดลองต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละระดับชั้นได้ หากเป็นนักเรียนในระดับมัธยมปลายก็สามารถเจาะลึกเนื้อหาเรื่องนั้นเพิ่มเติมได้หรือเพิ่มกิจกรรมการทดลองเชิงลึกให้เรียนรู้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การทดลองเรื่อง Making bread จากการนำยีสต์มาใช้ประโยชน์ทำแป้งขนมปัง สามารถให้นักเรียนออกแบบและทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าการทำงานของยีสต์ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจริงหรือไม่และจะใช้วิธีการทดลองใดเพื่อพิสูจน์เป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์