ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสุปราณี นฤนาทนโรดม ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 ณ หอประชุมโรงเรียนหนองโตง (สุรวิทยาคม) พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานความก้าวหน้าของนักเรียน ที่โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ และโรงเรียนเมืองสุรินทร์

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของโลก เป็นต้นเหตุของ VUCA World ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเด็กไทยและคนไทยทุกคนต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันในแต่ละช่วงอายุจึงจะสามารถอยู่ในโลกของ VUCA World ได้อย่างมีประสิทธิภาพ “โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ” จึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาส่งเสริมศักยภาพ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สร้างคนให้เกิดกระบวนการคิดและทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

‘คุณหญิงกัลยา’ ติดตามขับเคลื่อนโครงการ “วิทยาศาสตร์พลังสิบ” เดินหน้าเปิดเวทีประเทศไทย เด็กทุกคนต้องได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมอย่างทั่วถึง“โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบเป็นโครงการที่ดิฉันคิดขึ้นมาให้กับกระทรวงศึกษาธิการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เป็นการเปิดเวทีทั้งประเทศให้เด็กทุกคนได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับชีวิตแต่ละช่วงวัย รัฐบาลเห็นความสำคัญให้เงินมาหมื่นล้านบาทที่จะพัฒนาให้ทุกๆโรงเรียน นักเรียนทุกๆคน ได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมตั้งแต่ระดับประถมจนถึงชั้นมัธยม โดยขณะนี้เรามีโรงเรียนชั้นประถม 100 โรงเรียนที่ได้รับการอบรมเรียบร้อยแล้ว และมัธยมอีก 100 โรงเรียน ที่สมัครและได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนศูนย์ ดังนั้นปีหน้าจาก 100 โรงเรียนก็จะกลายเป็น 1,000 โรงเรียน และ 10,000 โรงเรียนต่อไป”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า สถานศึกษาและครูมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเตรียมผู้เรียนให้มีภูมิคุ้มกัน เรียนในสิ่งที่ชอบ และมีความสุข สิ่งสำคัญที่สุดคือ เน้นสมรรถนะ ไม่เน้นที่สาระอย่างเดียวเหมือนในอดีต เป้าหมายการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ จึงจะเน้นไปที่ 1.ให้เด็กต้องเรียนอย่างสนุกได้ลงมือทำ แก้ปัญหา ไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียน 2.ระหว่างเรียนมีรายได้ นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ 3.เรียนจบแล้วมีงานทำ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีแข่งขันได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีแข่งขันได้ เพื่อเป็นการเปิดโลกใบใหม่ และจุดประกายให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาอาชีพในอนาคต

ส่วนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือ การมีรูปแบบการเรียนรู้ มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ รวมทั้งใช้ระบบคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลเชิงตรรกะ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบ โดยวางเป้าหมายพัฒนาครูและหลักสูตรทางการศึกษา “เด็กเรียน Coding โดยการเล่น…ผู้ใหญ่เรียน Coding โดยการตั้งคำถาม” ส่งเสริมการใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา สิ่งนี้ถือเป็นความคาดหวังที่กระทรวงศึกษาธิการอยากจะเห็นเด็กเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ในสังคมที่มีคุณภาพสูงสุด