สถานทูตเยอรมนี กระทรวงการต่างประเทศ และ มจพ. ร่วมจัดการแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโอกาสฉลอง 160 ปี ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมนี โดยมี กฟผ. และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมสนับสนุน เพื่อส่งเสริมสถาบันการศึกษาสร้างนิสิตนักศึกษา เป็นกำลังสำคัญในการเตรียมพร้อมประเทศไทยสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

สถานทูตเยอรมนี – กต. - มจพ. และ กฟผ. พร้อมเครือข่ายพันธมิตร จัด EV Hackathon หนุนนิสิตนักศึกษา แข่งโชว์ไอเดียพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสู่ความยั่งยืนMr. Hans-Ulrich Südbeck อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนางสาวมารินี สุวรรณโมลี ผู้อำนวยการกองยุโรปกลาง กระทรวงการต่างประเทศ และศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The EV Hackathon for Sustainability #EV4Sustain) โดยมี นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเป็นกรรมการตัดสินและรับมอบของที่ระลึกในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงาน พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร อาทิ การไฟฟ้านครหลวง บริษัท เอเอเอส ออโต้ อิมพอร์ต จำกัด บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีเอ็มดับเบิ้ลยูกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เมอร์เซเดส เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมในพิธีเปิดการแข่งขัน เมื่อวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมเบญจรัตน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

สถานทูตเยอรมนี – กต. - มจพ. และ กฟผ. พร้อมเครือข่ายพันธมิตร จัด EV Hackathon หนุนนิสิตนักศึกษา แข่งโชว์ไอเดียพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสู่ความยั่งยืนนายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office เปิดเผยว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานด้านพลังงานที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ให้เกิดความยั่งยืน และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมนี กฟผ. จึงเข้ามาสนับสนุนการจัดการแข่งขัน The EV Hackathon for Sustainability ที่มุ่งยกระดับและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนิสิต นักศึกษา ในการเรียนรู้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า การแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์องค์ความรู้ทางเทคโนโลยี แนวคิดทางธุรกิจ และการบริหารจัดการ พัฒนาการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมพร้อมประเทศไทยสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต นอกจากนี้ กฟผ. ได้ร่วมเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้และเป็นคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน รวมทั้งออกบูธนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับ EGAT Carbon Neutrality และ EGAT EV Business Solutions เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ด้านพลังงานและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ผ่านศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง พร้อมนำมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าของ กฟผ. มาให้ผู้สนใจทดลองขับขี่ภายในงานอีกด้วย

สถานทูตเยอรมนี – กต. - มจพ. และ กฟผ. พร้อมเครือข่ายพันธมิตร จัด EV Hackathon หนุนนิสิตนักศึกษา แข่งโชว์ไอเดียพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสู่ความยั่งยืน

การแข่งขันในครั้งนี้มีทีมเข้าการแข่งขันทั้งสิ้น 103 ทีม คัดเลือกจนเหลือ 8 ทีมสุดท้าย ในรอบชิงชนะเลิศ EV Hackathon 24 ชั่วโมง ภายใต้หัวข้อการแก้ปัญหาโจทย์ “Invent solution of sustainability in Bangkok Metropolis with EV Mobility Technology” (การค้นหารูปแบบการแก้ปัญหาการเดินทางในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งเป็นหัวข้อโจทย์การแข่งขันที่กำหนดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ซึ่งผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ACDC จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท อันดับที่ 2 ทีม PorMayJedai จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับที่ 3 ทีม Bangmod จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท