กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.00 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 35.78-36.33 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยเงินยูโรร่วงลงสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี จากปัญหาราคาเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่พุ่งขึ้น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อสูง ส่วนเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลายรายให้ความเห็นว่าจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะที่เงินหยวนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีน โดยในช่วงท้ายสัปดาห์ดอลลาร์ได้แรงหนุนอย่างมีนัยสำคัญ หลังประธานเฟดแสดงความเห็นอย่างแข็งกร้าวต่อการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำลง อนึ่ง ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯแผ่วลงเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม แต่ข้อมูลดังกล่าวถูกบดบังด้วยท่าทีของประธานเฟดซึ่งกระตุ้นการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 9,349 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 5,831 ล้านบาท โดยเกิดจากตราสารหนี้ครบอายุเป็นหลัก
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่าตลาดจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตและการจ้างงานเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯเพื่อประเมินทิศทางการคุมเข้มนโยบายของเฟดต่อไป หลังประธานเฟดระบุว่าการดำเนินนโยบายแบบตึงตัวจะลากยาวจนกว่าภาวะเงินเฟ้อจะอยู่ภายใต้การควบคุม และเตือนว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว หลายภาคส่วนจะเผชิญกับความเจ็บปวด อีกทั้งเน้นย้ำว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับที่สูงเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ ตลาดสัญญาล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 75bp ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายน โดยเราประเมินว่าแม้เฟดอาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยหลังเดือนธันวาคมปีนี้ แต่จังหวะการลดดอกเบี้ยในระยะถัดไปจะล่าช้ากว่าที่ตลาดเคยคาดไว้เดิม อีกทั้งการเร่งลดขนาดงบดุลในเดือนกันยายนนี้จะส่งผลให้ตลาดการเงินตึงตัวและดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ยอดนำเข้าพุ่งขึ้น 23.9% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 3.66 พันล้านดอลลาร์ ปัจจัยลบต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ ราคาพลังงานซึ่งฉุดรั้งกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า รวมถึงการขาดแคลน semiconductor ที่กระทบการผลิตภาคอุตสาหกรรม