สินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานในตลาดโลกปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา  เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกธัญพืชที่สำคัญของโลก อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์   ซึ่งความขัดแย้งของทั้งสองประเทศเป็นเสมือนเชื้อไฟที่ช่วยเพิ่มปะทุความร้อนแรงของราคาธัญพืชในตลาดโลก  โดยมีราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญดังนี้

 ข้าวโพด

ความขัดแย้งกันของประเทศรัสเซีย-ยูเครน และการงดการส่งออกธัญพืชสำคัญของทั้งสองประเทศ  เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ดังตารางข้างต้น) ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย 5 เดือนแรก อยู่ที่กิโลกรัมละ 12.16 บาท  ทิศทางราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาล่าสุดในเดือนมิถุนายนอยู่ที่กิโลกรัมละ 13.45 บาท นับเป็นราคาที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุประเทศไทยสามารถผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เพียง 4.8 ล้านตันต่อปี  ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 8.5 ล้านตันต่อปี    โดยมติที่ประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพด เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ได้ยกเลิกมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราว  แต่จำกัดระยะเวลานำเข้าถึงวันที่ 31 กรกฎาคม  2565  และจำกัดโควต้าปริมาณนำเข้าด้วย

ถั่วเหลือง

กากถั่วเหลือง เป็นวัตถุดิบหมวดโปรตีนที่ประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่สภาพอากาศในประเทศผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ ทั้งสหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา ประสบภาวะแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนมีน้อย รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น   ด้านความต้องการใช้มีอยู่สูง  เช่นเดียวกับค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง   ส่งผลให้ราคากากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า มีราคาในเกณฑ์ที่สูงขึ้น  โดยราคากากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ได้ปรับขึ้นจากปกติที่มีราคากิโลกรัมละ 13  บาท  ราคาเฉลี่ยกากถั่วเหลืองในปี  2564 อยู่ที่กิโลกรัมละ  16.20 บาท  และในช่วงต้นปี  2565 ได้ขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท  ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นสำคัญ   โดยราคากากถั่วเหลืองเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกอยู่ที่กิโลกรัมละ  21.93 บาท  และราคาล่าสุดในเดือนมิถุนายนอยู่ที่กิโลกรัมละ  22.60 บาท

ข้าว

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยผลการส่งออกข้าวของประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2565 มีปริมาณรวมกว่า 2.2 ล้านตัน มูลค่ากว่า  39,445 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.7  และ 36.4 ตามลำดับ  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564  โดยมีตลาดหลักที่สำคัญในแถบตะวันออกกลาง ทั้งอิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และตลาดเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น  รวมถึงตลาดแอฟริกา สหรัฐฯ แคนาดา ที่ยังมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในภาวะที่เงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่า ส่งผลให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ดีขึ้น  สำหรับสถานการณ์ราคาเฉลี่ย 5 เดือนที่ผ่านมา ข้าวขาว 100 % ในประเทศ มีราคาที่กิโลกรัมละ 28.52 บาท และล่าสุดในเดือนมิถุนายนมีราคากิโลกรัมละ 30 บาท  ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ มีราคาที่กิโลกรัมละ  25.94 บาท และราคาล่าสุดในเดือนมิถุนายน มีราคาที่กิโลกรัมละ  28 บาท

ปลาป่น

ในฤดูกาลช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศเปรู ผู้ผลิตปลาป่นรายใหญ่ของโลก  มีปริมาณปลาที่จับได้จริงเกิน 95% ของโควต้า   สำหรับโควต้าจับปลาของเปรูสำหรับฤดูกาลแรกของปี 2565  มีปริมาณอยู่ที่ 2,792,000 ตัน  ซึ่งเป็นปริมาณในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีก่อนหน้า ทำให้ตลาดค่อนข้างคลายความกังวล แต่ยังต้องติดตามแนวโน้มปริมาณปลาที่จับได้จริงอีกครั้ง  ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ยังคงมีปริมาณซื้อที่เพิ่มมากขึ้น  โดยราคาปลาป่นเกรดกุ้งเฉลี่ย 5 เดือน อยู่ที่กิโลกรัมละ  48.38 บาท  และราคาล่าสุดในเดือนมิถุนายนอยู่ที่กิโลกรัมละ  53 บาท

สุกร

ในปี 2565 สถานการณ์สุกรยืนราคาในเกณฑ์สูง  เนื่องจากเกษตรกรต้องใช้เวลาในการเพิ่มสุกรพันธุ์เข้าเลี้ยงใหม่ หลังจากผลผลิตเสียหายในปี 2564 ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติรายงานว่า ปริมาณการผลิตสุกรในภาพรวมปี  2565  ลดลง คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตสุกรรวม 18.46 ล้านตัว เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาด้านสุขภาพในฟาร์มสุกร และต้นทุนการเลี้ยงที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการปรับระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ  โดยราคาสุกรหน้าฟาร์มเกษตรกรเฉลี่ย 5 เดือน อยู่ที่กิโลกรัมละ 97.08 บาท   และราคาล่าสุดในเดือนมิถุนายนอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท รายงานการสำรวจจำนวนสุกรของกรมปศุสัตว์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ในระบบมีจำนวนสุกรแม่พันธุ์ประมาณ 1 ล้านตัว  โดยมั่นใจว่าในประเทศจะมีสุกรขุนเพียงพอกับความต้องการบริโภค ที่มีปริมาณเดือนละ 1.5 ล้านตัว   สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรต้องเผชิญปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นถึง 98.81 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์  ขณะที่ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าเกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุน    ขณะเดียวกัน ภาคผู้เลี้ยงยังเผชิญปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศเข้ามาขายปะปนในพื้นที่ต่างๆของไทย

ไก่เนื้อ

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยระบุ การส่งออกเนื้อไก่ของประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมา มีปริมาณรวม 3.24 แสนตัน ลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  สำหรับปี 2565 นี้คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ 9.4 – 9.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ส่งออกได้รวม 9.3 แสนตัน โดยราคาไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์มตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เฉลี่ย  5 เดือนที่ผ่านมามีราคาที่กิโลกรัมละ  37.95 บาท และราคาล่าสุดในเดือนมิถุนายนอยู่ที่กิโลกรัมละ  40 บาท  สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ระบุว่า การบริโภคเนื้อไก่มีปริมาณเพิ่มขึ้น 20-30% เนื่องจากผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อไก่ทดแทนเนื้อสุกรมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังแบกรับต้นทุนการเลี้ยงสูง จากแนวโน้มต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากกิโลกรัมละ 43 บาท เป็นกิโลกรัมละ 45 บาท  เนื่องจากวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง

ไข่ไก่

กรมปศุสัตว์ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในการปลดไก่ไข่ยืนกรงที่มีอายุเกิน 80 สัปดาห์ โดยยกเว้นผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีปริมาณการเลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธะสัญญา พร้อมขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์ ร่วมผลักดันการส่งออกรวม  26 ล้านฟอง เพื่อพยุงราคาไข่ไก่ในประเทศ  สำหรับประกาศสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว  ราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร เฉลี่ย 5 เดือน อยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท  และราคาล่าสุดเดือนมิถุนายนอยู่ที่ฟองละ 3.30 บาท  ขณะที่ข้อมูลต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท