กรมการท่องเที่ยว พลิกโฉมรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG Model ด้วยแนวคิด DOT: Step up to New Chapter ก้าวไปสู่บทใหม่ที่ท้าทาย ด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ทั้งการพัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ การบูรณาการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริการประชาชน การสร้างเครือข่าย และความเป็นมืออาชีพ
นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการท่องเที่ยว ภายใต้การดำเนินกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นความสะอาด ปลอดภัยเป็นธรรม เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG Model ดังนั้น การดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ภายหลังผ่านวิกฤตโควิด-๑๙ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่กรมการท่องเที่ยวจะพัฒนารูปแบบการทำงาน เพื่อผลักดันโครงการและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แนวคิด DOT : Step up to New Chapter ด้วย 5 องค์ประกอบหลักที่สำคัญ
องค์ประกอบที่ 1 DOT : Department of Tourism กรมการท่องเที่ยวได้พัฒนาองค์กรให้ขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบอิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้ในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่กับการทำงานด้วยระบบคุณธรรม ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งทำให้ในปี ๒๕๖๔ กรมการท่องเที่ยวได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติสูงสุด ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
องค์ประกอบที่ 2 คือ Innovation การนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาการทำงาน เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนและผู้ประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด (E-Service) ทั้งการขอมีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์และการต่ออายุในรูปแบบออนไลน์ การทดสอบความรู้ความสามารถในการเป็นมัคคุเทศก์ผ่านระบบ E-Exam การชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบ E-Payment รวมถึงการยกระดับการดูแลธุรกิจนำเที่ยวด้วยระบบใบสั่งงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Job order online เพื่อความสะดวกในการสั่งงานง่าย รับงานไว ท่องเที่ยวมั่นใจไปกับทัวร์ ตลอดจนการพัฒนาระบบ E-learning ที่รวบรวมหลักสูตรและองค์ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนามัคคุเทศก์และบุคลากรด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือ เพื่อใช้ในการสำรวจแหล่งท่องเที่ยว การตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยคงไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับระบบ Big Data ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในอนาคต
องค์ประกอบที่ 3 Creativity การนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ โดดเด่น แตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เช่น
การจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย สัญลักษณ์ช้างชูงวงเริงร่า อีกทั้งนำสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิมมาต่อยอด (Creative Originals) เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ และการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ (Creative Goods and Service) เพื่อตอบโจทย์อุปสงค์และอุปทานทางการตลาด เช่น โครงการต้นแบบบ้านสวยด้วยอัตลักษณ์ โครงการต้นแบบแคมปิ้งชุมชน โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัย safety zone โครงการต้นแบบชุมชนมูเตลู โครงการเมนูอาหารสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพเฉพาะกลุ่ม ฯลฯ ตลอดจนการจัดทำแผนพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวหรือจุดหมายปลายทางใหม่ (Creative Destinations) เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ให้เป็นจุดหมายปลายทางของการสร้างภาพยนตร์ระดับโลก เป็นการนำเงินลงทุนของต่างประเทศ
เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์อีกช่องทางหนึ่งด้วย
องค์ประกอบที่ 4 Networking การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ได้แก่ ความร่วมมือภายในประเทศ โดยนำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย “ช้างชูงวงเริงร่า” ที่เป็นเครื่องมือในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน มาใช้ควบคู่กับมาตรฐาน SHA ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาแหล่องท่องเที่ยวให้เกิดความสะอาด สะดวก ปลอดภัย สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศได้ดำเนินการพัฒนามาตรฐานบริการร่วมกับ ISO และ ASEAN การร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาสินค้าและเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ASEAN IMT–GT ACMECS BIMSTEC
และองค์ประกอบที่ 5 Professional การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและยกระดับสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้ดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบผ่านโครงการ “ท่องเที่ยวสีขาว” เพื่อพัฒนาและสร้างคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการและบุคลากรด้านการท่องเที่ยว
ของไทยให้มีความเป็นธรรม ซื่อสัตย์ มีความเป็นเจ้าบ้านที่ดี การเตรียมความพร้อมและสร้างทักษะใหม่ๆ (Upskill) การฟื้นความรู้นำสู่การปฏิบัติ (Reskill) รวมทั้งเสริมสร้างแนวคิดและทัศนคติ (Mindset) ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการและบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ผ่านการเรียนรู้และอบรมในแบบออนไลน์ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในการบริหารจัดการและให้บริการด้านการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน และการพัฒนายกระดับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมการรับรองสมรรถนะบุคลากรด้านการท่องเที่ยวตามมาตรฐานของอาเซียน ภายใต้ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals: MRA on TP)