กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนหน้าร้อนนี้ให้พาสุนัข-แมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมระวังตนเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน หากโดนกัด-ข่วนแม้มีแผล เพียงเล็กน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแนะประชาชนให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ป้องกันการถูกสุนัขกัด วันนี้ (17 มีนาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศร้อนอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย ควรระวังตนเองและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดไม่ให้ถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน เพราะอาจได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่มีเชื้อ โดยสัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือแมวและโค โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ระยะตั้งแต่รับเชื้อถึงแสดงอาการอาจยาวนานตั้งแต่ 1 สัปดาห์ จนถึง 1 ปี อาการในคน คือ มีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบาก เนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาต เมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และเสียชีวิตทุกราย
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ โดย 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน และนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี 2.ป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยหลัก “คาถา 5 ย.” ดังนี้ อย่าแหย่ อาจโดนกัดหรือข่วนได้ อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย และ 3.หากถูกสุนัขหรือแมว กัด-ข่วน ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้ง อย่างเบามือ ใส่ยาฆ่าเชื้อหรือเบตาดีนที่บาดแผลทันทีหลังล้างแผลเสร็จ จากนั้นไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และให้กักสุนัข-แมว 10 วัน เพื่อสังเกตอาการ หากสัตว์ตายให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ที่สำคัญ ควรฉีดวัคซีนตามแพทย์นัดให้ครบชุด
ทั้งนี้ ขอแนะนำเจ้าของสัตว์เลี้ยงว่า การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 2-4 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปี ตามจุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ในสัตว์) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครมีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน 8 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 บางกอกน้อย และกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดินแดง หรือหน่วยบริการฉีดวัคซีนสุนัขบ้าฟรี ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชนทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป 0 2590 3177-8 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422