เผยผลการศึกษาบริษัทประกันภัยไทยมีความมั่นคง น่าเชื่อถือทางการเงิน และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผลิตภัณฑ์และช่องทางการขายที่หลากหลาย ที่สำคัญมีชื่อเสียงด้านการรักษาพยาบาล เป็นเหตุให้ชาวต่างชาติเดินทางมาซื้อกรมธรรม์และรับบริการด้านสุขภาพในไทย
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ร่วมกับบริษัท อีวาย คอร์เปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด เปิดเวทีสัมมนา “สรุปผลการศึกษาแนวทางการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินสาขาประกันภัย ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน” ในรูปแบบสัมมนา Online ผ่านระบบ Microsoft Teams โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน คปภ. ผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประเมินวินาศภัย สมาคมการค้าผู้สำรวจและประเมินวินาศภัยไทย บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งการจัดเวทีสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสภาพตลาดประกันภัยและแนวโน้มการเติบโตที่สำคัญของธุรกิจประกันภัยในอาเซียน และกระบวนการการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเตรียมความพร้อมในการเสริมสร้างธุรกิจประกันภัยให้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคที่สูงขึ้น รวมถึงผลักดันให้ภาคธุรกิจประกันภัยไทยให้มีบทบาทสำคัญในการขยายการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน
เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดงานสัมมนามีความสำคัญตอนหนึ่งว่า จากการศึกษาพบว่า บริษัทประกันภัยไทยมีความมั่นคง ความน่าเชื่อถือทางการเงิน โดยบริษัทส่วนใหญ่มีทุนจดทะเบียนหรือมีการดำรงเงินกองทุนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดี อีกทั้ง บริษัทประกันภัยหลายรายมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และมีช่องทางการขายที่หลากหลาย นอกจากนี้ ไทยมีชื่อเสียงด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์ว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ เป็นเหตุให้ชาวต่างชาติเดินทางมาซื้อกรมธรรม์และรับบริการด้านสุขภาพในไทย ดังนั้น สาขาประกันวินาศภัย (เฉพาะผลิตภัณฑ์บางประเภท) จึงเป็นสาขาที่มีศักยภาพในการเข้าสู่ตลาดประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียน
ทั้งนี้ ด้วยบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในด้านการใช้อินเตอร์เน็ต และการซื้อของออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงถือเป็นโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพและประกันภัยรูปแบบบำนาญ
ในส่วนของการผ่อนคลายสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาตินั้น จะต้องคำนึงถึงความพร้อมของภาคธุรกิจประกันภัยเป็นหลัก ซึ่งจากการศึกษาเห็นว่าการผ่อนคลายสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาตินั้นจะเป็นการสนับสนุนให้การจัดทำข้อตกลงในการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน ในสาขาธุรกิจประกันภัยบรรลุวัตถุประสงค์ และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านเงินทุนให้แก่ธุรกิจประกันภัยไทย ทำให้ธุรกิจประกันภัยไทยมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงยิ่งขึ้น ตลอดจน เสริมสร้างความแข็งแกร่ง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดประกันภัยไทย
อย่างไรก็ตาม หากมีการเปิดเสรีทางการค้าโดยที่ภาคธุรกิจไม่มีความพร้อม อาจส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยขนาดเล็กที่ยังไม่มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านเงินทุนและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน อาจถูกครอบงำในการดำเนินการจากบริษัทต่างชาติ และอาจเกิดการเข้าแย่งตลาดจากบริษัทต่างชาติที่มีความได้เปรียบในเรื่องของ Economy of Scale จึงจำเป็นต้องเร่งทำให้ธุรกิจประกันภัยของไทยมีความเข้มแข็งเพื่อจะได้มีความพร้อมในการแข่งขัน
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯส่วนใหญ่ เห็นว่าการผ่อนคลายสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจประกันภัย เพิ่มเงินทุนให้แก่ภาคธุรกิจ มีการถ่ายโอนความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยี อีกทั้งทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นว่าผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ไทยมีความโดดเด่น ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันภัยรายย่อย จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ