ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)
เป็นประธานเปิดโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน ปี 5” ณ ชุมชนเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกสู่ชุมชนผ่านการถอดบทเรียน และเชื่อมโยงโครงการต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ให้สามารถตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของชุมชน พร้อมจัดให้มีการเสวนา “ประกันภัยน่ารู้สู่ชุมชน” โดยมีประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย และผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต ร่วมเปิดโครงการ พร้อมทั้ง ได้รับเกียรติจากนางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายไพรัตน์ ขีดเขียน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด ร่วมเปิดโครงการและกล่าวต้อนรับ
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดโครงการ ในตอนหนึ่งว่า โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยสำนักงาน คปภ. ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยลงพื้นที่ เรียนรู้วิถีชีวิต รับทราบสภาพปัญหาของชาวชุมชน รณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและแนะนำให้ชุมชนทราบถึงบทบาทหน้าที่ และภารกิจของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนช่วยพัฒนาและส่งเสริมการทำประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และประกันภัยประเภท ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน รวมทั้งได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชุมชนและการเรียนรู้ด้านประกันภัยออกสู่สาธารณชน โดยจัดทำเป็นรายการ คปภ. เพื่อชุมชนเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านการประกันภัยในชุมชนและ ในวงกว้าง รวมทั้งทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนต่าง ๆ
จากความสำเร็จข้างต้นทำให้มีการจัดโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ในปีนี้ เป็นปีที่ 5 ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี จากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยปีนี้โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน จะเน้นการเข้าไปสัมผัสกับบริบทและวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างตรงจุดให้กับชุมชน นอกจากนี้ ยังมีความพิเศษเพิ่มเติม คือการเชื่อมโยงกับโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย ของสำนักงาน คปภ. เพื่อให้การส่งเสริมด้านการประกันภัยตรงตามความต้องการของชุมชน ตลอดจนพิจารณาประเภทภัยหรือความเสี่ยงที่ประชาชนในชุมชน ให้ความสนใจในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น การประกันภัยอัคคีภัย การประกันอุทกภัย การประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ขณะเดียวกันการลงพื้นที่ “คปภ. เพื่อชุมชน” ยังมีรูปแบบของการสร้างการรับรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ผ่านการ ถอดบทเรียนจาก Case Study เป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย ที่ถูกต้อง และเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคิด พัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบบส่งต่อองค์ความรู้ภายในชุมชนด้วยกันเอง เพื่อร่วมเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการในระดับพื้นที่ และทิศทางในภาพรวมของระดับประเทศให้เป็นความสมดุลแบบ “เติมเต็มซึ่งกันและกัน” ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ได้อย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 5 ได้กำหนดลงพื้นที่ทำกิจกรรมรวม 5 ครั้ง 5 ชุมชน พร้อมมีการเสวนา “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ชุมชนวัดจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้ลงพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งระหว่างบ้านกับวัด มีวัดอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากและมีวัดที่ได้รับความเสียหาย จากไฟไหม้แต่ไม่ได้มีประกัน จึงเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยศาสนสถาน โดยบูรณาการร่วมกับโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ ณ ชุมชนบ้านนาคูหา อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ (24 มกราคม 2565) ซึ่งเป็นชุมชนวิถีชีวิตของชาวนาคูหาใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ปลูกชา ใบเมี่ยงและกาแฟ และเป็นแหล่งปลูกฮ่อม และผลิตฮ่อมครบวงจรของจังหวัด อีกทั้ง มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความงดงามของธรรมชาติและชุมชน จึงเน้นให้ความรู้การประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับการท่องเที่ยว และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยชา-กาแฟ ครั้งที่ 3 ภาคกลาง ณ ชุมชนหมู่บ้านวัฒนธรรมชาวเขาบ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ (28 กุมภาพันธ์ 2565) ซึ่งเป็นชุมชนม้งใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี โดยชาวชุมชนมีอาชีพหลัก คือ การทำสวนทำไร่ และอาชีพเสริม คือ การค้าขาย และหัตถกรรม จึงเน้น ให้ความรู้การประกันภัยพืชผล ครั้งที่ 4 ภาคใต้ ณ ชุมชนเกาะมะพร้าว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต (21 มีนาคม 2565) ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางกสิกรรมธรรมชาติสู่ “เกาะมะพร้าวโมเดล” เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตคนบนเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้มีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง ขณะที่พบว่ามีปัญหาเรื่องประกันชีวิต จึงเน้นการช่วยเหลือเรื่องประกันชีวิตและการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยประมง และครั้งที่ 5 ภาคตะวันออก วิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (23 พฤษภาคม 2565) ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่มีความโดดเด่นเรื่องสวนผลไม้ที่มีปลอดภัย รสชาติดี และมีผลไม้พื้นบ้านที่มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี เช่น มังคุดโบราณ ทุเรียนโบราณ ที่มีขนาดสูงและใหญ่ที่สุด อีกทั้ง มีการแปรรูปผลไม้เป็นสินค้าของฝากของที่ระลึก จึงเน้นให้ความรู้การประกันภัยผลไม้รวมถึงทุเรียน
“สำนักงาน คปภ. หวังว่าโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 5 จะเป็นโครงการข้ามปีที่จะทำให้สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ได้ลงพื้นที่ เรียนรู้ เกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการมีการประกันภัยของชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนได้ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย และเกิดความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของการประกันภัย สามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต และทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวแบบยั่งยืนและเหมาะสมกับบริบทของชุมชนยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย