ช่วงค่ำวันที่ 11 พ.ย. 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชมการแสดงดนตรีเล่าร่องรอยประวัติศาสตร์จังหวัดลำปาง ถ่ายทอดเสียงเพลงพื้นบ้าน ผ่านการแสดงของวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จังหวัดลำปาง โดยมี นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมการแสดงฯ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การแสดงดนตรี ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จังหวัดลำปางในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย แม้การแสดงจะเป็นวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า ซึ่งใช้ท่วงทำนองแบบฝรั่ง แต่เพลงที่บรรเลงเป็นเพลงพื้นบ้านของจังหวัดลำปางส่วนใหญ่ ตนทราบข้อมูลมาว่า ลำปางมีเพลงพื้นบ้านมากที่สุดในประเทศ ที่คนไทยรู้จักมาก ๆ คือ เพลงลาวลำปาง และการที่นำเพลงพื้นบ้านมาร่วมบรรเลงในวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้านั้น จะทำให้ดนตรีไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลง่ายขึ้น เรายังมีเพลงพื้นบ้านไทยอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นของทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ เราจะใช้วงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าไปถอดเพลงพื้นบ้านและมาใส่สุ้มเสียง ท่วงทำนอง ที่คนทั่วโลกรับฟังได้ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมที่คนไทยมีมาก และต่างชาติยังจัดให้ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมดีเป็นอันดับ 6 ของโลก และ อว. ก็จะขอร่วมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ต่อไป
ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การแสดงวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้านี้ เป็นผลงานการวิจัยใน “โครงการวิจัยพื้นที่ ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่ โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน” และ “โครงการขยายผลต่อยอดวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ” ที่ วช. ได้สนับสนุน “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ซึ่งดำเนินการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ในการวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยการค้นหาเพลงเก่าของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมเล่นผ่านวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า เพื่อรักษาเพลงเก่า นำมาเสนอในรูปแบบใหม่ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป โดยก่อนหน้านี้ได้มีการแสดงบรรเลงเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การแสดงบรรเลงเพลงพื้นบ้านภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่ และการแสดงบรรเลงเพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดบุรีรัมย์
ด้าน รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า การแสดงดนตรีในครั้งนี้ ถือเป็นการปลุกจิตสำนึกให้คนได้ร่วมกันอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและยังถือเป็นการอนุรักษ์และต่อยอดพัฒนาดนตรีพื้นบ้านให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกผ่านวงซิมโฟนีออเคสต้า และที่สำคัญยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่ารักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้อยู่ให้อยู่สืบทอดต่อไป