กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยองค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองคุณภาพวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพและปลอดภัย อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อต่อสู้โรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนมั่นใจ ผลการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า หากฉีดครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันติดเชื้อโดยเฉพาะสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณ 90% และป้องกันปอดอักเสบได้ถึง 85% พร้อมย้ำความสำเร็จองการจัดการให้เชื้อโรคสงบโดยเร็ว คือ ต้องป้องกันร่วมทั้งวัคซีนและการตัดวงจรเชื้อด้วยการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกัน
วันนี้ (24 กรกฎาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ว่า องค์การอนามัยโลก (World Health Organization:WHO) ได้พิจารณาและให้การรับรองวัคซีนซิโนแวค-โคโรนาแวค (Sinovac-CoronaVac) ที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวคประเทศจีน ว่ามีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล มีความปลอดภัย มีประสิทธิผล และอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน (WHO Emergency Use Listing : EUL) เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา โดยแนะนำให้ใช้ในกลุ่มประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่ได้กำหนดอายุสูงสุด วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิผลในการป้องกันอาการป่วยจากเชื้อโควิดได้ 51% และป้องกันการป่วยที่รุนแรงที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ 100% เป็นวัคซีนลำดับที่ 6 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก รองลงมาจากวัคซีนของไฟเซอร์, แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม และซิโนแวค ตามลำดับ ซึ่งวัคซีนซิโนแวคมีข้อดี คือสามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีน จัดเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการควบคุมป้องกันโรค ประเทศไทยได้นำเข้าวัคซีนชิโนแวคโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อนำมาให้บริการประชาชนฟรีในภาวะฉุกเฉินที่เชื้อกำลังแพร่ระบาดในวงกว้าง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 อย่างเพียงพอ หากมีการติดเชื้อ วัคซีนจะช่วยลดอาการความรุนแรงลงได้ จึงขอให้ประชาชนทั้งที่ได้ฉีดแล้ว และกำลังจะฉีด มั่นใจและคลายความวิตกกังวลในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้
“ทั้งนี้ หลังจากที่นำวัคซีนชิโนแวค มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งในระยะแรกฉีดป้องกันโรคในกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสเชื้อและติดเชื้อ เช่นบุคลากรทางการแพทย์หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงหากติดเชื้อโควิด เช่น ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังมีการระบาด เป็นต้น จากรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยา เรื่องการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคและความปลอดภัยของวัคซีนตามมาตรฐานของวัคซีนที่ยอมรับในระดับสากล ของคณะติดตามประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต สมุทรสาคร และเชียงราย ในช่วงเดือนเมษายน 2564 – มิถุนายน 2564 ผลปรากฎว่า วัคซีนมีประสิทธิผล สามารถป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มที่เข้าร่วมการศึกษาใกล้เคียงกัน โดยที่จังหวัดภูเก็ต ได้ผลสูงถึง 90.7% สมุทรสาครได้ผล 90.5% และเชียงรายได้ผล 82.8% สามารถป้องกันปอดอักเสบซึ่งมีความรุนแรงได้ 84.9% หากฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม จะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด สายพันธุ์ใหม่ คือสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณ 90% ป้องกันปอดอักเสบได้ 85% ซึ่งในขณะนี้พบสายพันธุ์อัลฟามีการระบาดในภาพรวมทั่วประเทศ 34% ” นายแพทย์โอกาสกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันโรคให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด จะต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน การฉีดวัคซีนเพียง อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเชื้อโรคเป็นสิ่งมีชีวิตและมีการพัฒนาตัวเองเช่นกัน ประชาชนจะต้องยึดหลักปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายด้วยการล้างมือฟอกสบู่หรือล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์ 70% สวมหน้ากากอนามัย 100% ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกัน มั่นใจว่าหากประชาชนทุกคนร่วมมือร่วมใจยึดแนวปฏิบัติที่กล่าวมา เราจะสามารถชะลอการติดเชื้อ และควบคุมโรคได้สำเร็จโดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422
Post Views: 643