องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้จัดงานเสวนา เรื่อง “ภาคธุรกิจไทย TBCSD : พลังความร่วมมือ มุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ สู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ขึ้น โดยเป็นการจัดงานเสวนาผ่านระบบออนไลน์ Zoom เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด COVID-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง บทบาทของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ (Country Issue) ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และได้เข้าใจเกี่ยวกับบทบาทองค์กรภาคธุรกิจไทยในการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต พร้อมทั้ง ได้เห็นมุมมองพลังความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ในสังคม โดยงานเสวนาในวันนี้มี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวต้อนรับและความเป็นมาของการจัดงานเสวนาฯ โดยมี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนา
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง “Thailand Climate Action” กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทบาทของภาครัฐและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญของประเทศ เช่น ความสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย การจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. เป็นต้น รวมทั้ง การดำเนินงานเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero Emission ในอนาคต และบทบาทของภาคเอกชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลกต่อไป
การเสวนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก การเสวนา เรื่อง “ยกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต” ได้รับเกียรติจากผู้บริหารทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน มาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน เป็นการทำธุรกิจที่ตอบสนองต่อผู้บริโภคยุคใหม่ที่กังวลถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ มีเสียงเรียกร้องในระดับนานาชาติให้ธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการและการจัดการของเสีย จนกระทั่งไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสุทธิ (Carbon Neutral) เลย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาตัวชี้วัดธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนขึ้น เพื่อจัดระดับองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานด้านบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรติให้แก่องค์กรธุรกิจนั้น ตลอดจนนำเสนอแบบอย่างที่ดีให้แก่องค์กรธุรกิจอื่น ๆ อีกด้วย
นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (Climate Change) และได้ปรับวิสัยทัศน์ให้สอดรับกับทิศทางอนาคต โดยปรับเป็น “ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต (Powering Life with Future Energy and Beyond)” อันประกอบด้วย จุดมุ่งหมาย (Purpose) : มุ่งสร้างการเติบโตด้วยการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน วัฒนธรรม วิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม (Powering Life) และทิศทางการเติบโต (Strategic Positioning) : มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Future Energy and Beyond)
ในแง่การดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ปตท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ (ESG) โดยในมิติของสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดกลยุทธ์ “PTT Group Clean and Green Strategy” ในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดําเนินธุรกิจ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดเป้าหมายการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลงร้อยละ 15 จากระดับปี 2020
การดำเนินงานตามกลยุทธ์ดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่กับการดําเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพและใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต การปลูกและดูแลป่าเพื่อช่วยในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง
ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืน และภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็น 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญของ GC หรือ Step up โดยบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และตัวชี้วัด ที่สอดคล้องกับ (1) NDCs เป้าหมายการมีส่วนร่วมการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (2) COP21 การตั้งเป้าหมายเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 °C และ (3) ยังเป็นผู้สนับสนุน TCFD มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ
สำหรับการตั้งเป้าหมาย และกำกับการดำเนินงาน บริษัทฯ มีการตั้งเป้าหมายตาม GHG Protocol ทั้ง Scope 1 2 และ 3 ผลสำเร็จที่ผ่านมา บริษัทฯ เป็นต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในระดับโลก โดยได้รับการจัดอันดับดัชนีวัดความยั่งยืนดาวน์โจนส์ที่ 1 ของโลก และได้รับการจัดอันดับในระดับ A Level (สูงสุด) จากสถาบันจัดอันดับสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หรือ Carbon Disclosure Project ทั้งการดำเนินการในเรื่อง Climate และ Water ความสำเร็จด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเครื่องสะท้อนความมุ่งมั่นของ กลุ่ม GC และยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นายจารุวัฒน์ สิงห์สมดี Senior Vice President M&A Transformation and Sustainability Management บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินงานของ GPSC ด้านความยั่งยืนเพื่อไปสู่เป้าหมาย “การสร้างมูลค่าระยะยาวนวัตกรรมและพลังงานที่ยั่งยืน” ภายใต้กรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน 4 มุมมองได้แก่ 1) Power Accessibility 2) Quality of Life 3) Eco-system 4) Sustainable Innovation ซึ่งครอบคลุมในทั้ง 3 มิติในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างครบถ้วน และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อนำไปสู่สมาชิก DJSI ในปี 2565 และเดินหน้ามุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำเพื่อบรรลุเป้าหมายในระดับสากล
นายนำพล ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจและทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันยกระดับการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ เอสซีจี ตั้งเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยการพัฒนาโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงาน เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทดแทนและพลังงานหมุนเวียน พัฒนาสินค้าและบริการคาร์บอนต่ำ รวมถึง การปลูกต้นไม้และสร้างฝายชะลอน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อกักเก็บคาร์บอนและรักษาระบบนิเวศของธรรมชาติ
และช่วงที่ 2 การเสวนา เรื่อง “บทบาทของคนรุ่นใหม่ แสดงพลังความร่วมมือ เปิดมิติใหม่ สู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ได้รับเกียรติจากคนรุ่นใหม่ในสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ มาร่วมนำเสนอและถ่ายทอดข้อมูลผ่านมุมมองแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ดังนี้
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า พลังคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือได้ว่าเป็นแรงกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน และอนุรักษ์สิ่งดีมีประโยชน์เพื่ออนาคตที่ดี ดังนั้น การปลูกฝังเยาวชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาตินับได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อช่วยกันเปลี่ยนให้ชุมชนและสังคมดีขึ้น ด้วยการรวมพลังความคิดและลงมือทำ อันเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่จากทุกภาคส่วน ลุกขึ้นมาร่วมสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนร่วมกันผ่านกิจกรรมใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เพื่ออนาคตที่ดีของสังคมไทย
นางสาวจรินทร์พร จุนเกียรติ ดารานักแสดง และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อีอีซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในทุกวันนี้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นน่าเป็นห่วงมาก ๆ เช่น สภาพอากาศที่ไม่ตรงตามฤดูกาล ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถึงแม้เราจะมีต้นไม้ แต่เราก็เอาไม่อยู่ หรือปัญหาภัยแล้งที่แตกต่างจากในอดีต สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่น้อยลง ด้านสุขภาพของคน การเกษตร หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็กระทบไปหมด เช่น ชาวนา ชาวสวนที่ต้องอาศัยฤดูกาลในการเพาะปลูก อากาศแปรปรวนจึงกระทบไปถึงผลผลิต เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ น้ำเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ กระทบไปถึงปะการัง จนเกิดการฟอกขาว พอปะการังฟอกขาว ก็ไปกระทบธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจทำรายได้อันดับต้น ๆ ของประเทศ เมื่อห่วงโซ่นี้เสียจึงส่งผลต่อภาพกว้างในทุกมิติ เต้ยศึกษาเรื่องเต่ามะเฟือง เต่ามะเฟืองเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้เช่นกัน แนวปะการังต้องสมบูรณ์พอให้เต่าการหากิน หรือผสมพันธุ์ ปัจจุบันสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ความสมดุลที่ควรจะมีก็สั่นคลอน เกิดการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สัตว์บก อย่างเต่าก็อาจจะมีโอกาสในการวางไข่ในน่านน้ำเราน้อยลงได้ เพราะเต่าจะต้องขึ้นมาวัดหาดก่อนที่จะวางไข่ว่าน้ำจะท่วมรังไข่ของแม่เต่าหรือไม่ แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป น้ำทะเลหนุนขึ้นมาก หน้าหาดของเราร่นขึ้นมาเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีพื้นที่ให้แม่เต่าวางไข่น้อยลงเรื่อย ๆ ส่วนตัวเต้ยดีใจมาก ๆ ที่เห็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำโปรเจคดี ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกันเยอะมาก ๆ มี Passion และศึกษาอย่างลึกซึ้งกันมาก ๆ เต้ยมองว่าแต่ละคนก็มีหนทางในการช่วยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน อย่างเต้ยมุ่งไปที่เรื่องการศึกษา ดังนั้น เราจึงตั้งใจสร้าง EEC THAILAND (Environmental Education Centre) กับนายอเล็กซ์ เรนเดล และทีม ขึ้นมา พวกเราเชื่อว่าการที่เรามีความรู้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะสามารถอนุรักษ์สิ่งนั้นได้อย่างดี แต่เราทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สนุก เราบูรณาการ Education & Entertainment เข้าด้วยกัน เมื่อมองมาที่ภาพใหญ่ ถ้าผู้ประกอบการหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเยอะ ๆ มีการควบคุมการปล่อยมลพิษหรือการผลิตที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน่าจะช่วยได้มาก ทั้งนโยบายของภาครัฐ และเอกชนก็ต้องขับเคลื่อนกันไปทุก ๆ ทาง เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมและภัยจาก Climate Change เป็นเรื่องของความเป็นอยู่ของเราทุกคน ที่ต้องช่วยกันดูแลและขับเคลื่อนในทุกภาคส่วนไปพร้อม ๆ กัน
นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร พิธีกร และนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน บริษัท คิดคิด จำกัด (ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม) กล่าวว่า มุมมองแนวคิดการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่สามารถเดินหน้าควบคู่ไปพร้อมกับการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ โดยแนวทางการดำเนินธุรกิจของท็อป ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ด้านสิ่งแวดล้อม มีตัวอย่างผลงาน และ Case ต่าง ๆ สำหรับเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจหรืออยากเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม
และท้ายสุดหลังจากจบงานเสวนาในครั้งนี้ ทางองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จะดำเนินการสรุปผลข้อมูลภาพรวมของงานเสวนาฯ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเด็น Climate Change เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศไทยที่กำหนดไว้
Post Views: 457