สรุปประเด็นแถลงข่าว
• การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า การแพร่ระบาดระลอกใหม่รุนแรงขึ้นจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ทำให้จำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ การจ้างงานและรายได้แรงงาน ในพื้นที่ควบคุม นอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางและข้อจำกัดในการกักตัว คาดว่ายังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศตลอดช่วงไตรมาสที่สาม และอาจจะกระทบแผนการเปิดประเทศได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย
• ภาคการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง มีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้เดิม แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มแผ่วลงเล็กน้อยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศอย่างอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ต้องกลับมายกระดับมาตรการควบคุมโรคอีกระลอก ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป แต่ภาคส่งออกไทยยังมีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้เดิม อย่างไรก็ตามภาคการผลิตของไทยยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 และการกระจายวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง
• เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น สะท้อนการสำรวจโดย ธปท. ในเดือน มิ.ย. ที่พบว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าธุรกิจอาจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งช้ากว่าเดิม 6 เดือน โดยธุรกิจส่งออกเป็นเพียง Engine เดียวของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลงกว่าเดิม ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากนโยบายเพิ่มเติม เพื่อพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ
• เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0% ถึง 1.5% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก กกร. ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 8.0% ถึง 10.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ของ กกร.
%YoY
ปี 2563
(ตัวเลขจริง)
ปี 2564
(ณ มิ.ย. 64)
ปี 2564
(ณ ก.ค 64)
GDP
-6.1
0.5 ถึง 2.0
0.0 ถึง 1.5
ส่งออก
-6.0
5.0 ถึง 7.0
8.0 ถึง 10.0
เงินเฟ้อ
-0.85
1.0 ถึง 1.2
1.0 ถึง 1.2
ข้อเสนอของ กกร.
• มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจได้มากขึ้น กกร.ขอเสนอให้ บสย.เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ของธนาคาร และจัดกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ที่ได้รับผลกกระทบจากโควิด-19 แยกจากลูกหนี้ NPL ทั่วไป รวมไปถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีที่ 1-3 เนื่องจากอยู่ในช่วงเดือดร้อนที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือ SME ภายใต้โครงการ Faster Payment ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ผู้ประกอบการได้รับการชำระเงินค่าสินค้าได้เร็วขึ้นภายใน 30 วัน ซึ่งจะดำเนินการขยายไปยัง SET100 และภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป เพิ่มจากเดิมที่ได้ดำเนินการ MOU ไปแล้ว 163 แห่ง
• การจัดสรรวัคซีน
– ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมาก โดยเฉพาะที่กรุงเทพและปริมณฑล การกระจายวัคซีนไปยังศูนย์ฉีดวัคซีนของภาคเอกชนทั้ง 25 ศูนย์ ที่พร้อมจะสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจากรัฐบาลมากระจายและเร่งการฉีดที่ 25 ศูนย์ที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนการฉีดได้มากถึง 80,000 โด๊สต่อวัน และมีมาตรฐานในการรองรับผู้ฉีดทุกกลุ่ม โดยขอให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากการเปิดศูนย์ฉีดฯ ให้เต็มประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบในภาพรวม โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลในการเร่งฉีดและกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
– นอกจากนั้น ควรเร่งแผนการจัดหาวัคซีนและมีจุดยืนชัดเจนทางเลือกเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อพลิกสถานการณ์สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด โดยนำบทเรียนจากจัดหาวัคซีนรอบแรกมาปรับแผนเพื่อให้ประเทศไทยได้มีวัคซีนที่พร้อมต่อการรับมือกับเชื้อโควิด 19 ที่กลายพันธุ์
– ขอให้จัดสรรวัคซีนสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าให้ได้ตามเป้าหมาย
• สำหรับแผนในระยะยาว
กกร. สนับสนุนให้ประเทศไทยต้องดำเนินการในการพัฒนาระบบ Digital Vaccine Passport โดยเฉพาะเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุม APEC 2022 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งคนไทยในประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยต้องให้ระบบและข้อมูลเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเพื่อสนับสนุนทั้งในประเทศ INBOUND OUTBOUND ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ Open API ในการเชื่อมต่อต่อข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกับภาคส่วนต่างๆ
• การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ
– กกร. สนับสนุนการพัฒนากองเรือของชาติ เพื่อส่งเสริมเรือที่เป็นของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ชักธงไทยบนเรือ โดยให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวกด้านกฎ/ระเบียบ ตลอดจนโครงสร้างภาษี รวมทั้ง เร่งรัดการออก พ.ร.บ. ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. … ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อมีระเบียบรองรับการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลพาณิชยนาวี แบบองค์การมหาชน ทำหน้าที่ พัฒนาและส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีโดยตรง เพื่อให้กองเรือไทย ธุรกิจพาณิชยนาวีไทยแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างเท่าเทียม
– หากภาครัฐต้องการมีบทบาทในการผลักดันกองเรือไทย โดยการมีกองเรือที่ภาครัฐมีส่วนร่วม ขอให้ใช้กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ บริษัท บทด จำกัด ซึ่งรัฐถือหุ้นอยู่แล้ว เป็นกลไกส่งเสริมกองเรือและพาณิชยนาวีไทย ก็จะมีความคล่องตัวและเหมาะสม ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
– นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากองเรือของชาติ ซึ่งมี ภาคเอกชน โดย กกร. เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐ เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้