นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่มีสถานการณ์คุณภาพน้ำแม่น้ำชีในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธรและอุบลราชธานี ประสบปัญหากับความเค็มสูงผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตประปาในหลายพื้นที่ คพ. โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10-12 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สาเหตุ และหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจากการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพน้ำจากสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติที่ติดตั้งในแม่น้ำชีในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ในช่วงเมษายน – พฤษภาคม 2564 พบปริมาณค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity :EC) มีค่าอยู่ในช่วง 1,267 – 4,750 ไมโครซีเมนต์/เซนติเมตร (µS/cm) ซึ่งถือว่าสูงผิดปกติ
นายอรรถพล กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ค่า EC หรือค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity) ซึ่งแสดงถึงความเข้มข้นของปริมาณสารนำประจุไฟฟ้าในน้ำ เช่น โซเดียมคลอไรด์หรือเกลือ และจากสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติ พบค่า EC เริ่มมีค่าสูงผิดปกติในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิในช่วงปลายเดือนเมษายน สูงสุดวันที่ 25 เมษายน 2564 เท่ากับ 4,636.50 µS/cm และมวลน้ำดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดขอนแก่นบริเวณตำบลท่าพระ ค่า EC สูงผิดปกติในช่วงวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2564 และมวลน้ำเค็มดังกล่าวได้ไหลลงไปส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร
สาเหตุสำคัญเกิดจากในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีฝนตกหนักในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคอีสาน ทำให้น้ำสาขาไหลลงแม่น้ำชีและน้ำฝนได้ชะเอาตะกอนดินจำนวนมากจากพื้นที่ต้นน้ำที่มีลักษณะทางธรณีเป็นพื้นที่มีปัญหาดินเค็มตามธรรมชาติ และไหลลงมามากผิดปกติเมื่อฝนตกหนักในช่วงฤดูฝนแรก จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำชีและลำสาขาเพิ่มเติม พบว่าค่าการนำไฟฟ้าในแม่น้ำชีและลำสาขา มีค่าอยู่ในช่วง 119.1-1,401 ไมโครซีเมนต์ต่อเซนติเมตร ส่วนค่าคลอไรด์ มีค่าอยู่ในช่วง 5.5-380 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยมีค่าสูงสุดบริเวณอ่างเก็บน้ำบึงละหาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งจากการสังเกตพบว่าพื้นที่โดยรอบบึงละหานในช่วงฤดูแล้ง จะมีคราบเกลือปรากฏเป็นบริเวณกว้าง เมื่อเกิดฝนตกหนัก คราบเกลือดังกล่าวจะถูกน้ำฝนชะลงอ่างเก็บน้ำบึงละหานก่อนระบายออกสู่แม่น้ำชีผ่านทางลำคันฉู ทั้งกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนที่อยู่บริเวณด้านบนอ่างเก็บน้ำบึงละหาน เป็นผลให้บึงละหานมีค่าความเค็มเพิ่มขึ้นและระบายลงสู่แม่น้ำชี เป็นผลให้ค่าความเค็มในแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“จากสภาพของแม่น้ำชีที่ค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้นทำให้การผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคในหลายแห่งประสบปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา ประกอบด้วย การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสารคาม การประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ด การแก้ไขปัญหา คพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสานงานกับเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาวและเขื่อนร้อยเอ็ด เพื่อเร่งระบายมวลน้ำเดิมและปล่อยมวลน้ำใหม่มาเพื่อเจือจาง การประชาสัมพันธ์และชี้แจงทางช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำค่าคลอไรด์ 4 ชม./ครั้ง ในแต่ละวันเพื่อแจ้งเตือนประชาชน รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานราชการพื้นที่ปลายน้ำซึ่งจะได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเค็มที่จะไหลเข้าพื้นที่ให้เตรียมรับมือ” นายอรรถพล กล่าว