“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าในปี 2563 (วันที่ 1 ม.ค.-2 ธ.ค. 63) มีอุบัติเหตุทางถนนที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบของกรมควบคุมโรค (คืออุบัติเหตุที่เสียชีวิต 5 คนขึ้นไป หรือมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกัน 15 คนขึ้นไป หรืออุบัติเหตุตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ อุบัติเหตุรถพยาบาลสังกัดสธ. รถโดยสารสาธารณะ รถรับส่งนักเรียน) รวมทั้งสิ้น 39 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บ 644 ราย เสียชีวิต 59 ราย (คิดเป็นร้อยละ 9.16) แยกเป็นอุบัติเหตุทางถนน (38) และทางน้ำ (1) โดยพาหนะที่เกิดเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถกระบะ (ร้อยละ 22.95) รองลงมาคือ รถนักเรียน (21.31) และรถบรรทุก (13.11) ตามลำดับ จังหวัดที่มีรายงานเหตุการณ์มากที่สุด ได้แก่ สงขลา 7 เหตุการณ์ รองลงมาคือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ พิจิตร จังหวัดละ 3 เหตุการณ์ ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา 18 ราย นครราชสีมา 12 ราย และบุรีรัมย์ อุดรธานี บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ จังหวัดละ 5 ราย ช่วงเวลาที่พบเหตุการณ์มากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม รวม 13 เหตุการณ์ และช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ รวม 11 เหตุการณ์”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลสำคัญและเป็นวันหยุดยาว รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้ประชาชนมีการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอับดับหนึ่งในประเทศไทย และอันดับต้นๆ ของโลก ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้เกิดการบาดเจ็บทุพพลภาพ และเสียชีวิตได้ ซึ่งก่อนเดินทางไกลทุกครั้งผู้เดินทางควรมีการเตรียมความพร้อมทั้งผู้ขับขี่และยานพาหนะ ผู้ขับขี่ควรมีสภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงขณะขับขี่ยานพาหนะ เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคลมชัก ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับ 6-8 ชั่วโมง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศึกษาเส้นทางให้ดี และหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี เป็นต้น นอกจากนี้ ควรตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานก่อนออกเดินทาง หากขับรถระยะทางไกลอาจเกิดความเมื่อยล้าจึงควรมีคนช่วยเปลี่ยนกันขับ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเดินทางเป็นหมู่คณะ ขอให้งดดื่มสุราขณะขับขี่และโดยสาร คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งคนขับและผู้ร่วมเดินทาง ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย ขับรถด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด เคารพกฎจราจร ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถโดยเด็ดขาด เมื่อมีฝนตกหรือทัศนวิสัยไม่ดี ให้ลดความเร็วในการขับขี่ลง หากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้โทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันที โทร.1669 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
Post Views: 437