อธิบดีกรมควบคุมโรค แสดงจุดยืนวาระความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก (GHSA) ต่อประเทศสมาชิกในการประชุมระดับรัฐมนตรีวาระความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมสนับสนุนการขยายระยะเวลาไปอีก ปี ย้ำเป็นกลไกสำคัญ ยกระดับสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR)

 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีวาระความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก (Global Health Security  Agenda Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 2830 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมควบคุมโรค รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ไทยแถลงจุดยืนต่อความมั่นคงสุขภาพโลก (GHSA) ต่อนานาชาติ ย้ำเป็นกลไกสำคัญ ยกระดับสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR)นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลกให้ประสบการณ์ต่อการรับมือ และเตรียมความพร้อม ซึ่งไทยมี พรบ.โรคติดต่อแห่งชาติในการพัฒนาและยกระดับมาตรการควบคุมโรคทำให้ไทยสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และมาตรการจากหลายประเทศและภาคส่วน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะเครือข่ายวาระความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก หรือ GHSA เป็นกลไกสำคัญของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม ซึ่งช่วยยกระดับขีดสมรรถะหลักการดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) พร้อมกันนี้ ไทยยังประกาศจุดยืนสนับสนุนข้อเสนอการขยายระยะเวลาการดำเนินงานของเครือข่ายวาระความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลกต่อไปอีก ปี และให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางกลไกการคัดเลือกประธานของเครือข่ายดังกล่าว

นายแพทย์ธเรศ กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้หารือทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา ในเรื่องพัฒนาความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างกลไกของเครือข่ายวาระความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก รวมถึงยังเป็นวิทยากรร่วมบรรยายในหัวข้อการเตรียมความพร้อมทางด้านการเตรียมความพร้อมข้อกฎหมายเพื่อเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานตอบโต้ภัยทางด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน (Legal preparedness) และหัวข้อวาระความมั่นคงทางสุขภาพโรคและความร่วมมือกันกับกองทุนจัดการการระบาดทั่วโลก (Pandemic fund) พร้อมกับเข้าร่วมฝึกซ้อมแผนการจัดการโรคระบาดใหม่ๆ ร่วมกับนานาประเทศ ซึ่งเป็นก้าวย่างสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก