ณ ห้อง Wanda A Grand Ballroom โรงแรม Best Western Plus Wanda Grand Hotel จังหวัดนนทบุรีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมาย นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในงานพิธีเปิดโครงการแถลงข่าวสำคัญเนื่องในวันครบรอบสำนักงานกองทุนยุติธรรม (ครบรอบ 3 ปี) และ ในโอกาสที่ได้มีการจัดโครงการแผนบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาล และ โครงการความร่วมมือ (MOU) การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างสังคมเท่าเทียมกัน ระหว่างหน่วยงาน 7 หน่วยงาน ในกระบวนการยุติธรรม

นายพงศธรสัจจชลพันธ์

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม

กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้น โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม และได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2549 ต่อมา ในปี 2553 ได้ถ่ายโอนงานกองทุนยุติธรรม จากสำนักงานกิจการยุติธรรม ไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และได้ออกระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วย กองทุนยุติธรรม พ.ศ.2553 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงผู้ที่กระทำการใดๆ เพื่อปกป้อง คุ้มครอง หรือรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งกองทุนยุติธรรมมีการสนับสนุนเงิน หรือค่าใช้จ่ายจากกองทุนยุติธรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น 8 ประการ ได้แก่
1. สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการวางเงินประกันการปล่อยชั่วคราว
2. สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความว่าความใน คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง หรือการบังคับคดี
3. สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการชำระค่าธรรมเนียมขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในคดีแพ่งและคดีปกครอง
4. สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการพิสูจน์ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมเอกสาร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินเผชิญสืบของศาล ค่าใช้จ่ายในการสอบแนวเขตรังวัดที่ดิน หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศหรือทางดาวเทียมและการอ่าน แปล ตีความ และวิเคราะห์ภาพถ่ายดังกล่าว
5. สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นของผู้ขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
6. สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัยจากการ ก่ออาชญากรรมหรือการป้องกันการถูกปองร้าย เพราะได้เข้าช่วยเหลือภารกิจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน
7. สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่าย อันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิด ทางอาญา การกระทำโดยมิชอบทางปกครอง หรือการกระทำละเมิดในลักษณะที่มีผลกระทบต่อประชาชน หรือกลุ่มบุคคลตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
8. สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
โดยหลังจากที่ กองทุนยุติธรรม ได้ยกระดับเป็นกองทุน มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 (พ.ศ. 2559–ปัจจุบัน) ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2559 เป็นต้นมา เป็นระยะเวลา 3 ปี ที่กองทุนยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ในภารกิจ
1. การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี
2. การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย
3. การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
4. การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
โดยผลการดำเนินงานภารกิจกองทุนยุติธรรม
ก่อนที่จะมีการตราพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2551-2557 มีผู้ขอรับความช่วยเหลือ จำนวน 12,894 ราย อนุมัติ 5,583 ราย และหลังจากที่มีการจัดตั้ง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ขอรับความช่วยเหลือ จำนวน 29,023 ราย อนุมัติ 11,783 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.43
หลังพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2559 ตั้งแต่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ปี 2559 – 2562 (ณ 31 มีนาคม 2562) มีผู้ขอรับความช่วยเหลือ จำนวน 24,481 ราย อนุมัติ 9694 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.15
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา
1. สำนักงานกองทุนยุติธรรม พิจารณาให้ความช่วยเหลือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคำขอของส่วนภูมิภาคที่เกินวงเงิน 500,000 บาท โดยมีคำขอมากที่สุด จำนวน 2,173 ราย อนุมัติ 467 ราย
2. ส่วนจังหวัดในภูมิภาคที่มีคำขอรับการช่วยเหลือมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนคำขอ 258 ราย อนุมัติ 92 รายต่อปี
3. จังหวัดที่มีการดำเนินการประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ จังหวัดชัยนาท มีจำนวนคำขอ 190 รายต่อปี อนุมัติ 126 ราย เนื่องจากศูนย์ยุติธรรมชุมชนมีความเข้มแข็ง และประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนยุติธรรม และคดีส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์
ทั้งนี้ การเติบโตในการให้ความช่วยเหลือประชาชนของกองทุนยุติธรรมเพิ่มสูงมากขึ้นในทุกปี
ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่ปี 2550–2562 (ก่อนและหลังตราพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนไปแล้วรวมเป็นเงิน จำนวน 1,047,078,156.97 บาท
หากแต่ 3 ปีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ถึงปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว จำนวน 461,202,848.70 บาท
สำหรับก้าวต่อไปของกองทุนยุติธรรม จะมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนภารกิจงานกองทุนยุติธรรม โดยปัจจุบันสำนักงานกองทุนยุติธรรมมีการใช้ระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) Mobile Application 2) เว็บไซต์สำนักงานกองทุนยุติธรรม (jfo.moj.go.th) และผู้ขอรับความช่วยเหลือ ยังสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด โดยระบบจะรองรับการรับคำขอแบบเบื้องต้นสำหรับผู้พิการ โดยการส่งภาพถ่ายหน้าบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และแจ้งประเภทคำขอที่ต้องการ และระบบจะรองรับคำขอที่ให้ข้อมูลแบบละเอียด ซึ่งจะสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทุกคำขอจะถูกจัดเก็บลงระบบสารสนเทศกองทุนยุติธรรมเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการทั้งในส่วนของค้นหาประวัติ ผลการพิจารณา การแจ้งเตือนเพื่อดำเนินการตามระยะเวลามาตรฐาน โดยผู้รับคำขอสามารถติดตาม ความคืบหน้าของคำขอได้ด้วยตนเองผ่านทาง Mobile Application หรือเว็บไซต์ของสำนักงานกองทุนยุติธรรม ด้วยหมายเลขประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่ได้ลงทะเบียนไว้


โดยการทำงานของกองทุนยุติธรรมทั่วทั้งประเทศ มีสำนักงานกองทุนยุติธรรม และ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด และอีก ๕ สาขา ประกอบด้วย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สำนักงานยุติธรรมจังหวัดตาก สาขาแม่สอด สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา สาขาเบตง
ท้ายที่สุดนี้แม้ว่า กองทุนยุติธรรม จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล หรือเงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ใช้ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตาม กองทุนยุติธรรมสามารถรับเงินหรือทรัพย์สินจากผู้มีความประสงค์บริจาคให้แก่กองทุนได้ ซึ่งผู้บริจาคสามารถได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 651) พ.ศ. 2561 โดยมีช่องทางการบริจาค ดังนี้ 1. นำส่งเป็นเงินสด ณ สำนักงานกองทุนยุติธรรม อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ชั้น 22 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 2. โอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค บัญชีกระแสรายวัน ชื่อบัญชี กองทุนยุติธรรม (เงินฝากคลัง) เลขที่บัญชี 568-6-00166-9


นอกจากนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงในโครงการความร่วมมือ (MOU) การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างสังคมเท่าเทียมกัน ระหว่างหน่วยงาน 7 หน่วยงาน ในกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานอัยการสูงสุด, กรมราชทัณฑ์, กรมบังคับคดี, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และ กรมคุมประพฤติ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของกองทุนยุติธรรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับ สภาทนายความ และ สำนักงานศาลยุติธรรม แสดงเจตนาร่วม และอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมพิจารณา