การมีสุขภาพที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออายุมากขึ้นโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนอาจป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ บางคนอาจป่วยหนักจนไปถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล หรือในบางรายป่วยหนักจนต้องถึงขั้นเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเลยก็มี

            ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์ทรวงอกเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดส่องกล้องโรงพยาบาลวชิรพยาบาลได้กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ได้รับการผ่าตัดเล็กจนไปถึงการผ่าตัดใหญ่เป็นจำนวนมากกว่า 100,000 รายต่อปี การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดนั้นมีความสำคัญค่อนข้างมาก นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจในหลักการวิธีการรักษาแต่ละบุคคลนั้น ยังทำให้ผู้ป่วยสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา แถมยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดได้อีกด้วย โดย 10 ขั้นตอนที่เราควรที่จะต้องเรียนรู้การเข้ารับการผ่าตัด มีดังนี้

1.     ตรวจเช็คสิทธิการรักษาของตัวเอง ผู้ป่วยทุกคนในประเทศไทยจะมีสิทธิพื้นฐานของตัวเองไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ การที่เรารู้จักสิทธิเข้ารับการรักษาตามสิทธิจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้

2.     สอบถามข้อมูลโรคที่จะผ่าตัดให้ชัดเจน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นและทางเลือกอื่น หากไม่ได้รับการผ่าตัด เพื่อเข้าใจถึงวิธีการรักษา

3.     สอบถามถึงระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด ระยะเวลานอนโรงพยาบาล เพื่อที่เราจะสามารถบริหารจัดการเวลากับที่ทำงานและบ้านก่อนเข้ารับการผ่าตัด

4.         สอบถามค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในการผ่าตัดที่อาจจะเบิกจากสิทธิการรักษาไม่ได้

5.     แจ้งโรคประจำตัว ยาที่ทานและการแพ้ยา ให้กับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาให้ทราบทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่สามารถป้องกันได้

6.     ก่อนผ่าตัดทุกครั้งต้องมีการเจาะเลือด ทำการเอ็กซเรย์ปอดและตรวจสุขภาพ รวมทั้งปรึกษาทีมแพทย์อายุกรรมและวิสัญญีวิทยาเพื่อเช็คสุขภาพและความพร้อมก่อนได้รับการผ่าตัด

7.         งดยาละลายลิ่มเลือดก่อนผ่าตัดทุกชนิด เพื่อป้องกันเลือดออกมากระหว่างการผ่าตัด

8.         งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงเพื่อป้องการการสำลักระหว่างการผ่าตัด

9.     ทำความสะอาดเล็บมือและเท้าและถอดอุปกรณ์ที่มีค่าเครื่องประดับทุกชนิด เช่น ตุ้มหู สร้อยแหวน คอนแทคเลนส์ เพราะอาจทำให้เป็นสื่อการนำไฟฟ้า ทำให้เกิดอันตรายระหว่างการผ่าตัดได้

10.  ถอดฟันปลอมก่อนผ่าตัดเพราะเวลาผ่าตัดต้องใส่อุปกรณ์ในช่องปากทำให้ฟันปลอมหลุดอุดกั้นหลอดลมได้

                 อย่างไรก็ตามการผ่าตัดทุกชนิดมีความเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านก่อนเข้ารับการรักษาให้ถี่ถ้วน สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคในช่องทรวงอก สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “ผ่าตัดปอด” หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ lineofficial : @lungsurgeryth