ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. ได้ลงนามสัญญาให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ปี 2562 รอบ 1 แก่ โครงการวิจัยการเกษตรที่มีศักยภาพ กว่า 96 โครงการ ครอบคลุมงานวิจัยด้านการเกษตรใน 7 กลุ่มเรื่อง ด้วยงบวิจัยกว่า 137 ล้านบาท แก่ หน่วยงานต่างๆ กว่า 30 หน่วยงาน

ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สถาบันการศึกษา กว่า 25 แห่งทั่วประเทศ อาทิเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ฯลฯ และหน่วยงานภาครัฐและอื่นๆ ซึ่งมีโครงการวิจัยที่คาดว่าเมื่อสำเร็จแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศอย่างมาก อาทิเช่น

ข้าว : โครงการการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากข้าวมะลินิลสุรินทร์ร่วมกับสารสกัดจากอ้อยดำและใบเตยเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิว กันแดด และบรรเทาภาวะเรื้อนกวาง

ปาล์มน้ำมัน : โครงการการเพิ่มความเข้มข้นวิตามินอีและกลีเซอรอลจากกระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชันด้วยเอนไซม์สำหนับอุตสาหกรรมเวชสำอาง

อาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัย : โครงการการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เหลือใช้จากเม่าในรูปผลิตภัณฑ์สุขภาพต้านโรคเรื้อรัง

สมุนไพรไทย : โครงการศักยภาพทางการค้าและแนวทางการขยายโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพในตลาดประเทศอินเดีย

พืชสวน/พืชไร่ : โครงการการพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อเพิ่มผลผลิตและความต้านทานต่อโรคยอดไหม้สำหรับเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

สัตว์เศรษฐกิจ : โครงการการลดต้นทุนกระบวนการผลิตของโรงฆ่าสัตว์ต้นแบบด้วยระบบผลิตไฟฟ้าและ น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับปั๊มความร้อน

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ : โครงการการประยุกต์ใช้ระบบชลประทานสมัยใหม่ร่วมอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว และบริหารจัดการน้ำสู่ความยั่งยืน

และในวันเดียวกันนี้ สวก. ยังได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “ยกระดับห่วงโซ่การผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน : จากสวนปาล์มสู่ตลาดโลก” และการเปิดตัวเทคโนโลยีพร้อมใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย สาธารณะ และพาณิชย์ กลุ่มเรื่อง “ปาล์มน้ำมัน” หัวข้อ “เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ปาล์มน้ำมันสู่ธุรกิจ Eco-Material” ซึ่งประกอบด้วยผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ 22 โครงการ โดยมีผลงานวิจัยที่เด่น อาทิ โครงการโซ่อุปทานและโครงสร้างตลาดธุรกิจปาล์มน้ำมันในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย:กรณีศึกษาโอกาสทางการตลาดในประเทศอาเซียน-จีน ในเส้นทางสายเศรษฐกิจ R3A และโครงการความต้านทานแรงอัดของคอนกรีตผสมเถ้าปาล์มน้ำมันและหินฝุ่นแทนทราย เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนางานทรัพย์สินทางปัญญา กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการพัฒนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อมูลทางวิชาการในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา