กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถิตในแต่ละปีทั่วโลก มีคนจมน้ำเสียชีวิตปีละ 372,000 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 146,000 คน โดยประเทศไทยสถิติจมน้ำเสียชีวิตปีละ 3,592 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 737 คน หรือกล่าวได้ว่า ในทุกๆ วันเราสูญเสียคนไทยจากการจมน้ำถึงวันละ 10 คน โดยสหประชาชาติ แนะนำให้ประเทศสมาชิกดำเนินงานป้องกันการจมน้ำใน 10 ประเด็นหลัก
ณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบให้ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามข้อเสนอของสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้การดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในประเทศไทยสอดรับกับมติของสหประชาชาติ และลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ป้องกันการจมน้ำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่า การจมน้ำเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 รองจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในแต่ละปี ทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตปีละ 372,000 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 146,000 คน สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2555 – 2564) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 35,915 คน โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 7,374 คน หรือกล่าวได้ว่า ในทุกๆ วันเราสูญเสียคนไทยจากการจมน้ำถึงวันละ 10 คน
นายแพทย์ธเรศกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ จึงมีภารกิจในการผลักดันให้ประเทศไทยเร่งดำเนินการในประเด็นที่องค์กาอนามัยโลกให้ข้อเสนอแนะไว้ โดยจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ณ เมืองนิวยอร์ก ได้รับรองข้อมติเรื่อง “Global Drowning Prevention” อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นฉันทามติร่วมกันในเรื่องการป้องกันการจมน้ำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยได้เสนอให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามมติของการประชุม โดยมี 10 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) การจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันการจมน้ำระดับชาติ 2) การพัฒนาแผนงานป้องกันการจมน้ำระดับชาติ 3) การพัฒนาโครงการป้องกันการจมน้ำให้สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
4) การมีกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำและมีการบังคับใช้ 5) การมีข้อมูลการจมน้ำระดับชาติ
6) การส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักและรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 7) การบูรณาการงานป้องกันการจมน้ำไว้ในโครงการที่เกี่ยวกับภัยพิบัติที่มีอยู่ 8) การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศโดยการแบ่งปันบทเรียน ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี 9) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ/เทคโนโลยีนวัตกรรม และแบ่งปันให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และ 10) การนำเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ หลักสูตรการว่ายน้ำ และการปฐมพยาบาล เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียน พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day)” โดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการจมน้ำที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามมติของสหประชาชาติ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามข้อเสนอของสหประชาชาติเป็น 1 ใน 8 คณะอนุกรรมการที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี(พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานฯทั้งนี้คณะอนุกรรมการชุดนี้ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการ จำนวน 37 ท่าน จาก 30 หน่วยงาน