รมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่ต้องใช้เรือในการเดินทางหรือโดยสาร ซึ่งการท่องเที่ยวทางน้ำได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และการเกิดอุบัติทางน้ำเพิ่มตามมาเช่นกัน จึงขอแนะนำวิธีเตรียมพร้อมก่อนการเดินทาง เพื่อให้การโดยสารเรือมีความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุ

          วันนี้ (1 มิถุนายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปัจจุบันการเดินทางหรือท่องเที่ยวทางน้ำได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และเกิดอุบัติทางน้ำมากขึ้น  จากข้อมูลอุบัติเหตุขนส่งทางน้ำของกรมเจ้าท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) พบว่า มีอุบัติเหตุทางน้ำ จำนวน 129 ครั้ง เรือที่เกิดอุบัติเหตุ จำนวน 178 ลำ มีผู้เสียชีวิต 124 ราย บาดเจ็บ 303 ราย  โดยเฉลี่ยพบว่าในทุกๆ เดือนจะเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ 2 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตและสูญหายเกือบ 3 ราย โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบบ่อยเกิดจากความประมาท และพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่ถูกต้อง เช่น การบรรทุกน้ำหนักเกิน การไม่สวมเสื้อชูชีพขณะโดยสารเรือ   การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อให้การโดยสารเรือมีความปลอดภัย กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง ดังนี้ 1.ตรวจสอบพยากรณ์อากาศ  2.ใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา ถอดออกได้ง่ายและฝึกทักษะการลอยตัวในน้ำ  3.ไม่ยืนรอบนโป๊ะเรือ  4.รอเรือจอดให้สนิทแล้วค่อยขึ้น-ลง 5.เลือกโดยสารเรือที่ไม่มีผู้โดยสารหนาแน่น หรือบรรทุกน้ำหนักไม่เกินกำหนด ทั้งนี้ ขณะเดินทาง ให้สวมเสื้อชูชีพตลอดเวลา    แม้จะว่ายน้ำเป็น อย่ายืนกระจุกที่จุดใดจุดหนึ่งในเรือ ต้องกระจายเพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่ยืนท้ายเรือหรือกราบเรือหรือนั่งบนหลังคาเรือ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ หากเจอเหตุการณ์เรือล่มให้ปฏิบัติตัวดังนี้ 1.ขอให้มีสติ และว่ายน้ำออกห่างจากตัวเรือให้เร็วที่สุด 2.คว้าสิ่งที่ลอยน้ำได้มาพยุงตัว 3.พยายามลอยตัวเพื่อรอการช่วยเหลือ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เศษขยะ/พืชน้ำ/ผักตบชวาเพราะอาจเข้ามาพันตัวได้  4.ปลดสิ่งของที่ถ่วงน้ำหนักออก เช่น รองเท้า เข็มขัด เสื้อผ้า เครื่องประดับ  5.ขอความช่วยเหลือ ด้วยการตะโกนหรือเป่านกหวีดที่ติดมากับเสื้อชูชีพหรือโบกมือขึ้น-ลงเหนือศีรษะ  6.โยนสิ่งของที่สามารถเกาะเพื่อพยุงตัวได้ ลงไปให้คนตกน้ำ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน   และ 7.โทรขอความช่วยเหลือ สายด่วนอุบัติเหตุทางน้ำ (1196) สายด่วนกรมเจ้าท่า (1199) หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (1669)