กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำมาผสมฉีดพ่นในนาข้าว   แทนการใช้น้ำยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีสารเคมีสูง และเป็นอันตรายต่อร่างกายของเกษตรกรที่ใช้ เช่น การระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ

          วันนี้ (8 กรกฎาคม 2565) แพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าว เกษตรกรใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ มาผสมฉีดพ่นในนาข้าว เพื่อกำจัดศัตรูพืช แมลง เชื้อราต่างๆ และลดต้นทุนการผลิตได้ดี ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร ไม่เป็นอันตรายต่อเมล็ดข้าว ไม่มีสารเคมีตกค้าง นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า การใช้น้ำยาล้างห้องน้ำผสมฉีดพ่นในนาข้าว อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเป็นอันตรายต่อเกษตรกรที่ใช้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่ได้มีคุณสมบัติในการเป็นสารเคมีสำหรับกำจัดแมลงในนาข้าว และมีความเข้มข้นของสารเคมีสูง เป็นอันตรายต่อใบและต้นข้าว โดยเฉพาะพวกกรด และพวกด่าง ที่ใช้กำจัดคราบสกปรก จึงไม่แนะนำให้นำมาฉีดพ่นกับพืชที่ปลูกไว้ เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพเกษตรกรเอง

สำหรับน้ำยาล้างห้องน้ำมีสารเคมีที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งมีส่วนผสมของกรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric Acid) สารเคมีเหล่านี้ มีฤทธิ์กัดกร่อนที่รุนแรง เพราะต้องใช้กำจัดคราบฝังลึกและฆ่าเชื้อโรค เมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เพราะฤทธิ์กัดกร่อนของสารเคมีจะทำลายเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร เมื่อรับประทานข้าวที่มีน้ำยาล้างห้องน้ำตกค้างอยู่เข้าไป อาจเกิดอาการแสบร้อนอย่างรุนแรงบริเวณริมฝีปาก ช่องปาก คอ ลำไส้ ปวดท้องอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หายใจ ไม่ออก หมดสติ หากมีการสูดดม หรือสำลักสารเคมีอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจด้วยเช่นกัน

แพทย์หญิงหรรษา กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อน้ำยาล้างห้องน้ำสัมผัสผิวหนัง หรือกระเด็นเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดบริเวณที่สัมผัสสารพิษหรือบริเวณดวงตานานๆ อย่างน้อย 15 นาที อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้น หากเปื้อนเสื้อผ้าให้รีบทำความสะอาด แยกซักด้วยผงซักฟอกและทำความสะอาดร่างกาย ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ในกรณีที่กลืนกินเข้าไป ห้ามทำให้อาเจียน ให้ดื่มน้ำหรือนมในปริมาณมากๆ    แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลพร้อมด้วยฉลากหรือภาชนะที่บรรจุทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร 02 590 3866