กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนช่วงฤดูฝนนี้ ระวังป่วยด้วยโรคเมลิออยโดสิส แนะหากมีบาดแผล ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน เพราะเสี่ยงติดเชื้อและอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากจำเป็นต้องลงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรใส่รองเท้าบูทยาวเพื่อป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกาย หลังขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาด และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

วันนี้ (31 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และอาจมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งประชาชนอาจมีกิจกรรม ที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น ทำการเกษตร การประมง ขอให้ระมัดระวังอาจเจ็บป่วยด้วยโรคเมลิออยโดสิส เนื่องจากการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือดื่มน้ำที่ไม่ได้ต้มสุก มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการลุยน้ำหรือลุยโคลน ขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ หลังจากขึ้นจากน้ำควรทำความสะอาดร่างกายและฟอกสบู่ทันที หากมีแผลถลอกซึ่งสัมผัสกับดินและน้ำ ควรล้างทำความสะอาดเป็นพิเศษโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น

สถานการณ์ของโรคเมลิออยโดสิส ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 1,016 ราย อัตราป่วย 1.53 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ อายุ 55-64 ปี รองลงมาคือ มากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (3.98) รองลงมาคือ ภาคเหนือ (0.48) ภาคใต้ (0.26) และภาคกลาง (0.25) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ มุกดาหาร (15.04) อุบลราชธานี (9.92) อํานาจเจริญ (7.66) ส่วนในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 2,945 ราย อัตราป่วย 4.43 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 13 ราย อัตราตาย 0.02 ต่อประชากรแสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังพบผู้ป่วยสูงสุดเช่นกัน (2,385 รายหรือ อัตราป่วย 11.06 ต่อประชากรแสนคน)

โรคเมลิออยโดสิส สามารถพบได้ในช่วงฤดูฝน โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1.ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง 2.หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3.ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และพบว่าระยะฟักตัวของเชื้อ คือ 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดโดยผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือโรคติดสุราเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อจะมีอาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ คล้ายป่วยเป็นไข้ บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค อาการสำคัญคือ ติดเชื้อในกระแสเลือดทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง การตรวจในห้องปฏิบัติการโดยวิธีการเพาะเชื้อจึงมีความสำคัญมาก

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ 1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 3.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน

ที่สำคัญในช่วงนี้สถานการณ์ของโรคโควิด 19 ยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยง หรือจัดงานที่รวมคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงหรือมีโรคประจำตัว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422