กรมควบคุมโรค เผยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติฯ กำชับให้กรมควบคุมโรค กำกับติดตามและประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เร่งติดตามค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร รายที่ 2 เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคเพิ่มเติม

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้กำชับและดูแลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคฝีดาษวานร พร้อมสั่งการให้กรมควบคุมโรค ประสานงานกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในการติดตามเฝ้าระวังโรค สำหรับ  กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกองระบาดวิทยา ลงพื้นที่เร่งติดตามค้นหาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ประสานงานกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ที่ผู้ป่วยเข้าไปตรวจหาเชื้อและรักษาตัว และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการติดตามสอบสวนโรคเพิ่มเติม ตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคฝีดาษวานร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่สอบสวนโรค สอบถามข้อมูลของผู้ป่วยเพิ่มเติมพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติโดยไม่ได้ป้องกันในวันที่ 12 ก.ค. 65 และเริ่มมีอาการไข้ในวันที่ 15 ก.ค. 65 ต่อมาอีก 3 วัน เริ่มมีตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ ไปซื้อยามาทาเอง แต่อาการไม่ดีขึ้น อวัยวะเพศบวม มีหนอง ปัสสาวะสีขุ่น และเริ่มมีผื่นขึ้นที่ใบหน้าแถวระหว่างคิ้ว แขนขา ลำตัว จากนั้นผู้ป่วยจึงไปเข้าระบบคัดกรองที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยมีอาการและมีประวัติสัมผัสเสี่ยงที่เข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จึงได้แยกผู้ป่วยไปที่ห้องตรวจแยกโรคที่จัดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ และได้ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจจากตุ่มหนอง คอหอย และเลือด ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมกับรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องผู้ป่วยแยกโรค แรงดันลบ (AIIR) และผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่ง ยืนยันว่ามีการติดเชื้อฝีดาษวานร  “ขณะนี้พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 13 ราย อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ และสังเกตอาการพร้อมกักตัว 21 วัน จึงขอแนะนำประชาชนว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ซึ่งจะติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ โดยการสัมผัสกับ ตุ่ม หนอง แผล หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย พร้อมย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 สามารถใช้ได้กับโรคฝีดาษวานร โดยหมั่นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง กินอาหารปรุงสุก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง หรือผู้ป่วยต้องสงสัย” นพ.โอภาสกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้กลุ่มเสี่ยงเพิ่มความระมัดระวังและลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานร และลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422