เมื่อวันที่ 17 – 19 มีนาคม 2562 นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ร่วมกับคณะนักวิจัยคุณภาพ จาก มหาวิทยาลัยชั้นนำในเขตภาคเหนือ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยพะเยา นำคณะสื่อมวลชน ดำเนินกิจกรรม “รอบรู้งานวิจัย กับ สวก.” ณ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา โดยการจัดกิจกรรม “รอบรู้งานวิจัย กับ สวก.” มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวก. ที่ได้ถ่ายทอดให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และผลงานวิจัยที่พร้อมจะนำไปส่งเสริมไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย โดยในครั้งนี้ สวก. ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลงานวิจัย จำนวน 4 โครงการ ได้แก่

ครงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากเมล็ดข้าวสีแดง ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ 1) โครงการการวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากเมล็ดข้าวสีแดงเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามและลดการอักเสบของข้อ และ 2) โครงการการศึกษาประสิทธิภาพการชะลอวัยของผิวหนังทางคลินิกจากสารสกัดเมล็ดข้าวสีแดงแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม

จากรายงานผลการวิจัย เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาการแยกสารบริสุทธิ์จากข้าวแดงที่มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมนุษย์ชนิดรุกราน” ของ ศาสตราจารย์ ดร.พรงาม เดชเกรียงไกลกุล ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวก. พบว่าสารสกัดที่ได้ในชั้น Hexane ที่ได้จากข้าวแดงมีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดรุกรานได้ดี และลดการอักเสบของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage ซึ่งเป็นที่มาของการประยุกต์และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางลดการอักเสบ และความเสื่อมของเซลล์ ประกอบกับในเมล็ดข้าวสีแดงมีสารในกลุ่ม phenolic flavonoid และ proanthocyanidin ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสามารถต้านความแก่ชราของเซลล์ผิวหนังได้ ที่พบได้น้อยมากในข้าวขาว

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีอยู่ในท้องตลาดทั่วไปมักจะมุ่งเน้นการป้องกันและการฟื้นฟูความชราของผิวหนัง (anti-aging) เช่น การลดริ้วรอย ความเหี่ยวย่น หมองคล้ำ ผิวขาดความชุ่มชื่นและหยาบกระด้างในเมล็ดข้าวสีแดงจะมีสารในกลุ่ม phenolic flavonoids และ proanthocyanidin ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสำคัญเหล่านี้จะพบในส่วนของจมูก และรำข้าวสีแดง ทำให้เป็นที่น่าสนใจในการนำจมูกและรำข้าวสีแดง มาสกัดให้เข้มข้นขึ้น พร้อมทั้งหาอัตราส่วนที่เหมาะสมของสารสกัดข้าวสีแดงเพื่อเตรียมสูตร ส่วนผสมที่จำเพาะซึ่งให้ผลทางชีวภาพที่ดีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่น ครีมและเซรั่มที่สามารถช่วยชะลอหรือต้านความแก่ชราของผิวหนังไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนัง นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาต่อไปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่าของข้าวที่มีสีแดงได้ต่อไป

อีกหนึ่งโครงการวิจัยที่น่าสนใจ คือ โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัด Cassia Spp และ Tagetes Spp จากดอกไม้สีเหลือง เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เป็นงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของดอกไม้ที่ไม่ได้มีมูลค่าทางการตลาดมาก่อน โดยนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย สารสกัดจากดอกไม้สีเหลือง 3 ชนิด ได้แก่ ดอกราชพฤกษ์ ดอกขี้เหล็ก (Cassia Spp) และดอกดาวเรือง (Tagets Spp) ใช้เป็นส่วนประกอบในเซรั่มหรือครีมที่มีฤทธิ์ชะลอหรือต้านความแก่ชราของผิวหนังช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจน กระตุ้นการสร้างไฮยาลูรอน ให้ผิวอิ่มน้ำ เผยผิวใหม่ที่เรียบเนียน ชุ่มชื้น และลดการสร้างเม็ดสีผิวทำให้ผิวดูกระจ่างใสขาวเนียนขึ้น นับว่าเป็นการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอาง

โดยโครงการวิจัยพัฒนาสารสกัดจากเมล็ดข้าวสีแดงและการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัด Cassia Spp และ Tagetes Spp จากดอกไม้สีเหลือง นี้มี ศาสตราจารย์ ดร.พรงาม เดชเกรียงไกลกุล คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าทั้งสองโครงการนี้ได้มีผู้ประกอบการที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายในท้องตลาดเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารสกัดจากธรรมชาติที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยและที่สำคัญเป็นการนำวัตถุดิบของไทยมาวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยโครงการ “ข้าวสีแดง” ได้ถ่ายทอดสิทธิ์ให้กับ บริษัท บิ๊ค เคมิคอล จำกัด และโครงการ “ดอกไม้สีเหลือง” ได้ถ่ายทอดสิทธิ์ให้กับบริษัท อมินตา คอสโม จำกัด สำหรับผู้บริโภคที่สนใจผลิตภัณฑ์สามารถหาซื้อได้แล้วตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป โดยผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัท ได้ร่วมเสวนาและนำผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยมาร่วมจัดแสดงภายในงาน

แผนงานวิจัยบูรณาการงานวิจัยเมี่ยงเพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัยมากกว่า 30 ชีวิตจาก 3 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ซึ่งแผนงานวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย 3 โครงการวิจัยย่อย คือ 1) โครงการวิจัยการสืบสานภูมิปัญญา “คน-ป่า-เหมี้ยง” 2) โครงการการทำมาตรฐานและการพัฒนาสารสกัดเมี่ยงและวิธีการวิเคราะห์ทางเคมี และ 3) โครงการการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เมี่ยง แผนงานวิจัยบูรณาการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย ระหว่าง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งแต่กลางปี 2557 โดยมีเป้าหมายให้เป็นแผนงานวิจัยที่ทำงานวิจัยในลักษณะบูรณาการแบบ Trans-disciplinary ภายใต้การผลักดันของ ศาสตราจารย์ ดร. เกตุ กรุดพันธ์ และ ศาสตราจารย์ ดร. ภญ.มาลิน อังศุรังสี เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อทั้งการศึกษา สังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

พืช “ชาเมี่ยง” หรือ “ชาเหมี้ยง” ตามการเรียกของชาวล้านนานั้นคือ “ชาอัสสัม” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Camellia sinensis var. assamica ซึ่งพืช “ชาเมี่ยง” จะพบได้เฉพาะในพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น ทั้งยังเป็นพืชในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กระบวนการหรือองค์ความรู้ในการทำเมี่ยงหมักยังเป็นภูมิปัญญาของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมามากกว่า 500 ปี อีกด้วย โดย ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ ได้เห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาดังกล่าว จึงได้รวบรวมนักวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือที่มีมุมมองเดียวกันมาร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวก. ซึ่งการดำเนินงานของแผนงานวิจัยดังกล่าวถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยและการติดตามการดำเนินงานของแผนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงงบประมาณจากแหล่งทุนวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น นักวิจัยในแผนงานวิจัยยังพยายามบูรณาการการบริหารจัดงานงบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดย ยกตัวอย่างเช่น การจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้กึ่งพิพิธภัณฑ์ “คน-ป่า-เหมี้ยง” วัดคันธาพฤกษา หมู่บ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ นั้นได้มีงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ (I-ANALY-S-T) คลัสเตอร์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจและสังคมบนฐานความหลากลายทางชีวภาพ (B.BES-CMU) และศูนย์วิจัยพหุวิทยาการงานวิจัยเหมี้ยง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคงบประมาณและงบประมาณจากการจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อการจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้กึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอีก 2 ครั้ง รวมทั้งการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนในการบริจาคอุปกรณ์สำหรับการผลิตเมี่ยงจากคนในชุมชนเพื่อนำมาใช้ตกแต่งภายในศุนย์การเรียนรู้กึ่งพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น จากการทำวิจัยร่วมกันของนักวิจัยทั้ง 3 สถาบัน ตัวแทนจากชุมชนที่ร่วมแผนงานวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิจากแหล่งทุนวิจัยจึงทำให้แผนงานวิจัยนี้เกิดผลลัพธ์ต่อทั้งการศึกษา สังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจดังวัตถุประสงค์ของแผนงานวิจัยที่ตั้งไว้ โดยผลลัพธ์ของแผนงานวิจัยดังกล่าวที่เกิดขึ้นแบ่งได้ เป็น ผลลัพธ์ด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจและชุมชน และผลลัพธ์ด้านวิชาการและสิ่งแวดล้อม ตามเอกสารแนบ

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. ได้แนะนำโครงการวิจัยอีกหนึ่งโครงการที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล คือ โครงการการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกหลังการทำนาในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเขต 2 คือ จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการลดพื้นที่ทำนาปรังโดยเฉพาะพื้นที่นาในเขตชลประทาน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรกรรมในฤดูแล้งโดยเฉพาะการทำนาปรัง ทางราชการจึงได้แนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะพืชไร่ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และข้าวโพด

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากติดอันดับ 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตามผลผลิตและความต้องการใช้ภายในประเทศยังไม่เพียงพอจึงต้องมีการนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการในธุรกิจอาหารสัตว์ สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยพันธุ์ข้าวโพดที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสม (F1 hybrid) ที่ได้มาจากภาคเอกชนหรือบริษัทเมล็ดพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยภาคเอกชนมีความก้าวหน้าทั้งเทคโนโลยี บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์

ปัจจุบันการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมทำในต้นฤดูฝน ผลผลิตจะออกมามากในช่วงปลายฤดูฝน โดยเกษตรกรจะเร่งเก็บเกี่ยวในขณะที่มีความชื้นมากทำให้ได้เมล็ดข้าวโพดที่มีคุณภาพไม่ดี ขายไม่ได้ราคา ซึ่งนอกจากจะมีผลผลิตออกมามากในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันแล้วยังมีข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาขายแข่งขันอีกด้วย จึงทำให้ราคาข้าวโพดตกต่ำ เกษตรกรเกิดภาวะขาดทุน จึงได้มีการเสนอการปรับเปลี่ยนสัดส่วนพื้นที่การเพาะปลูกในต้นฤดูฝนให้น้อยลง และไปเพิ่มการเพาะปลูกในช่วงกลางถึงปลายฤดูฝน และในช่วงฤดูแล้งให้มากขึ้น โดยพยายามผลักดันหรือเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวสู่การเพาะปลูกพืชไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่นา 70 ล้านไร่ ให้ลดลงไป 29 ล้านไร่ โดยจะปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชอื่นๆ ที่มีศักยภาพ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาจึงเป็นหนทางหนึ่งที่นอกจากจะเพิ่มปริมาณผลผลิตยังสามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อีกด้วย

ดังนั้น การพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดในปัจจุบันจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้พันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่มากที่สุด แต่เนื่องด้วยข้าวโพดเป็นพืชที่มีการตอบสนองต่อลักษณะภูมิประเทศภูมิอากาศและการจัดการของเกษตรกรที่แตกต่างกันออกไป คณะนักวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ คณะเกษตรศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติของมหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้มีแนวคิดที่จะมุ่งวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์และพันธุ์ที่มีลักษณะพิเศษและเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ปลูกหลังนา กล่าวคือ มีระบบรากที่แข็งแรง (Good root system) อายุค่อนข้างสั้น (Early variety) ต้านทานโรคเฉพาะถิ่นได้ดี (Disease resistance) และผลผลิตสูง (High yield) เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ มุ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกหลังการทำนาในพื้นที่ดังกล่าว

ผลสำเร็จที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการวิจัยนี้ คือ พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกหลังการทำนาในเขตภาคเหนือตอนบน อย่างน้อย 1 พันธุ์ ซึ่งจะได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง สวก. คณะผู้วิจัยและต้นสังกัด ร่วมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการนำผลสำเร็จจากงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจากการประเมินผลกระทบของโครงการวิจัยพบว่ามีใน 2 แนวทาง คือ ผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ รายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการทำนาอย่างเดียว เพิ่มมูลค่าและปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และลดปริมาณการนำเข้า และแก้ปัญหาปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรมีโอกาสและทางเลือกในการใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอีก 1 อย่าง ส่วนผลกระทบในเชิงสังคม ได้แก่ เกษตรกรและชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และเกิดการพัฒนางานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่มากขึ้น