รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการด้านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยผลสำเร็จของผลงานวิจัย “เตียงพลิกตัวและวัสดุรองรับสำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้” ภายในงาน STYLE Bangkok ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งออกแบบและพัฒนาให้สามารถดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ผู้ป่วยวิกฤต รวมจนถึงผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวได้น้อยและมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับได้อย่างครบวงจร ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. และบริษัท กรุงเทพครุภัณฑ์เวชภัณฑ์ จำกัด

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยอัมพาตเพิ่มขึ้นปีละราว 1 แสนคนทุกปี ในแต่ละปีต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการรักษาผู้ป่วยดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นภาระในการดูแลของผู้เกี่ยวข้องที่ต้องดูแลตลอดเวลา เนื่องจากผู้ป่วยอัมพาตต้องอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน จึงมีปัญหา “แผลที่เกิดจากการกดทับ” ซึ่งต้องเสียเวลาและแรงงานของพยาบาลผู้ดูแลหรือญาติผู้ป่วยกรณีต้องกลับไปดูแลรักษาต่อที่บ้าน โดยต้องทำหน้าที่ขยับพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งจุดกดทับและระบายความชื้นที่สะสมขึ้นจากการที่อยู่ตำแหน่งเดิมเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

ผศ. พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ช่วยในการดูแลพยุงตัวผู้ป่วยและลดปัญหาแผลกดทับจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่พบรูปแบบเตียงที่มีประสิทธิภาพที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง จึงได้ร่วมกับอาจารย์สมคิด สมนักพงษ์ สังกัดวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร พัฒนาคิดค้นและออกแบบเตียงสำหรับผู้ป่วยอัมพาตและป้องกันแผลกดทับรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตหรือผู้ป่วยแผลกดทับ โดยมีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยลดภาระการดูแลของญาติและพยาบาล สามารถยกและพลิกตัวผู้ป่วยได้หลายรูปแบบและหลายทิศทาง ทั้งยกลำตัวและศีรษะผู้ป่วยในลักษณะครึ่งนั่งครึ่งนอน การยกส่วนเท้าของผู้ป่วย และพลิกตัวจากท่านอนหงายไปสู่การตะแคงซ้ายและขวาได้ ซึ่งกลไกการทำงานทั้งหมดควบคุมและสั่งการได้ด้วยรีโมทคอนโทรลและสวิตช์ควบคุมที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ “Doctor N Medigel” จากวัสดุพอลิเมอร์เจล (viscoelastic gel) ห่อหุ้มด้วยยางธรรมชาติ พัฒนาและคิดค้นขึ้นโดย ผศ. พญ.นลินี วัสดุดังกล่าวสามารถลดแผลกดทับโดยการกระจายแรง อาศัยคุณสมบัติความนิ่ม ยืดหยุ่น และการกระจายแรงกดทับพร้อมลดแรงกระทำต่อผิวหนังในการช่วยลดแผลดกดทับ

“ผลงานวิจัยนี้นับเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ช่วยดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยซึ่งเป็นแพทย์กับอาชีวศึกษา ซึ่งจะอำนวยความสะดวกและช่วยลดภาระของพยาบาลหรือญาติผู้ป่วยทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยและจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น ทั้งนี้ เตียงแบบไฟฟ้ามีราคาประมาณ 85,000-100,000 บาท ขึ้นกับความต้องการของผู้บริโภคที่จะบวกอุปกรณ์ในการตั้งค่าการพลิกตะแคงตัว โดยนักวิจัยและผู้ประกอบการยังได้ผลิตรุ่นใช้มือหมุนแทนการควบคุมด้วยรีโมทและยังคงฟังก์ชั่นครบดังเช่นเตียงไฟฟ้า ทำให้สามารถจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยากว่า ซึ่งเตียงพลิกตะแคงตัวพร้อมเบาะรอง Doctor n Medigel พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์โดยบริษัท กรุงเทพครุภัณฑ์เวชภัณฑ์ จำกัด และบริษัท เอ็นเอฟเฮลท์แคร์ จำกัด” ผู้บริหาร สกว.กล่าวสรุป