เชิญชวนพี่น้องเกษตรกรผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนเกษตรกร พร้อมทั้งขอความอนุเคราะห์หน่วยงานภาครัฐ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพี่น้องสื่อมวลชนช่วยกันรณณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้มีสิทธิเลือกตั้งฯ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.โดยเปิดให้เกษตรกรผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งฯ สามารถยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งฯ พร้อมเอกสารหลักฐานได้ตั้งแต่วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2566 (5 วัน) ณ ที่ทำการปกครองอำเภอในเขตพื้นที่จังหวัด/สำนักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสถานที่อื่นที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประจำอำเภอ หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานครประจำเขตประกาศกำหนด ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศสามารถตรวจสอบรายชื่อในประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ณ ที่ทำการปกครองอำเภอ / หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน การจัดงานแถลงข่าวประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เวลาประมาณ 10.30 น. ณ ห้องประชุม BB 203 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในงานแถลงข่าวดังกล่าว ได้รับเกียรติจากผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือ อาทิ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการเกษตร กรุงเทพมหานคร กรมประชาสัมพันธ์ และผู้บริหารสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดที่เข้าร่วมรับชมงานแถลงข่าวผ่านระบบการประชุมออนไลน์กันอย่างพร้อมเพรียง
นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงานความเป็นมา โดยได้ชี้แจงว่า การเลือกตั้งคราวนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินการจัดการเลือกตั้งเอง สืบเนื่องจากในการเลือกตั้งในครั้งเริ่มแรกนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการตามบทเฉพาะกาล โดยสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2559 ปัจจุบันอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีการประกาศรายชื่อสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดใหม่ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งก่อนนั้น เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยเป็นการเลือกตั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด แต่ครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงและลับ ซึ่งใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรรายบุคคลเป็นหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งจะแตกต่างจากการเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว โดยการบริหารจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้มีรายละเอียดที่ต้องเตรียมการมากมายทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง อาทิ การจัดทำแผนเตรียมการจัดการเลือกตั้ง การจัดทำแผนงบประมาณและการยื่นคำของบประมาณ การตรวจสอบและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การแบ่งเขตกำหนดหน่วยเลือกตั้ง การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง การรณรงค์ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง เป็นต้น โดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการต่างๆ ภายใต้ระเบียบสภาเกษตรกรแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2565 อาทิ คณะอนุกรรมการกฎหมาย คณะอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ และวินิจฉัย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนภารกิจการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงานเป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น

เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยืนยันความพร้อม ประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566

นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ในครั้งนี้สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ขอความอนุเคราะห์กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประเภทผู้แทนเกษตรกร และกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการปกครองเป็นผู้รับผิดชอบสนับสนุนการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะดำเนินการใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 77 แห่ง 878 อำเภอ 50 เขต รวม 928 อำเภอ/เขต จำนวนสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดที่จะต้องดำเนินการเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 1,348 คน แบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 1,348 เขต ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 17,370,395 คน หน่วยเลือกตั้งประมาณ 14,500 หน่วย ในส่วนของกรมการปกครองได้เตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ในด้านการบริหารจัดการเลือกตั้ง ด้านการทะเบียน และด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง เตรียมการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง รวมทั้งการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว กรมการปกครองคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินการให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่ระเบียบและกฎหมายกำหนด รวมถึงรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด
นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเลือกตั้งฯ ให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประจำอำเภอ/ประจำเขต หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรจังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 รวมทั้งกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่น ถูกต้อง โปร่งใส และเที่ยงธรรม ซึ่งได้ดำเนินการไปครบถ้วนสมบูรณ์แล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงบทบาท ภารกิจ หน้าที่สำคัญของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ความสำคัญของสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนเกษตรกร คอยรับฟังปัญหาจากเกษตรกร มาเสนอต่อสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไข โดยมุ่งรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร และเพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 โดยจะมีการลงคะแนนเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. พร้อมทั้งเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งฯ สามารถยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งฯ พร้อมเอกสารหลักฐานได้ตั้งแต่วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2566 (5 วัน) ณ ที่ทำการปกครองอำเภอในเขตพื้นที่จังหวัด/สำนักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสถานที่อื่นที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประจำอำเภอ หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานครประจำเขต ประกาศกำหนด โดยในช่วงท้ายของงานแถลงข่าว ก็ได้กล่าวขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติอย่างดียิ่ง และได้กล่าวให้กำลังใจกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญยิ่งในครั้งนี้ และได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงที่มาร่วมงานแถลงข่าวและช่วยเผยแพร่ข่าวสารการเลือกตั้งฯ ไปยังพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ