ซีพี จับมือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขับเคลื่อนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เข้าสู่ปีที่ 34 ส่งเสริมเด็กและเยาวชนเข้าถึงอาหารปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการให้น้องๆ นักเรียน เป้า 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ในพื้นที่ชนบทห่างไกล เป็นห้องเรียนสร้างอาชีพจากการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ แปรรูปอาหารจากผลผลิตไข่ไก่ ต่อยอดสู่การบริหารจัดการของเสียจากมูลไก่นำมาทำเป็นปุ๋ย  ขยายผลสู่ชุมชนเป็นคลังเสบียงในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 

  นายจอมกิตติ  ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เครือซีพี ซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตาม “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” สานต่อดำเนิน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างโภชนาการที่ดี และการเติบโตสมวัย ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา โดยตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 905 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 180,000 คน และเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู 12,000 คน ตลอดจนชุมชน 1,900 แห่ง ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มีไข่ไก่บริโภคในราคาย่อมเยาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เกิดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลผลิต นำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการ ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 25 โรงเรียน คาดว่าภายใน 2568 จะมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 1,000 โรงเรียน      

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกล สู่เป้าหมาย 1,000 รร.ภายในปี 2568

ด้าน นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟดำเนินการภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่  ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในข้อ 2  การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และ ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ทุกช่วงอายุ ซึ่งตลอด 34 ปีของการดำเนินโครงการดังกล่าว ซีพีเอฟให้การสนับสนุนโรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงรุ่นแรก (ระยะเลี้ยงประมาณ 60 สัปดาห์) ให้กับโรงเรียน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการโรงเรือน ตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล รวมถึงให้คำแนะนำการบริหารจัดการผลผลิตและบัญชี เพื่อให้โครงการฯมีผลประกอบการที่ดี  และมีเงินเข้ากองทุนโครงการฯ สำหรับการเลี้ยงเองในรุ่นถัดไป โดยการเลี้ยงไก่ตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไป โรงเรียนจะได้รับพิจารณาให้สามารถซื้อพันธุ์ไก่ไข่ และอาหารไก่ไข่ในราคาพิเศษ โดยส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นมีซีพีเอฟเป็นผู้ให้การสนับสนุน

“เครือซีพี ซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนโครงการฯ ประกอบด้วย หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และ บมจ.สยามแม็คโคร มุ่งมั่นต่อยอดความสำเร็จของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นศูนย์เรียนรู้และคลังความรู้ในโรงเรียนที่เปิดให้ชุมชนเข้ามาเรียนรู้อาชีพเกษตร เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การจัดการฟาร์ม และการตลาด เพื่อนำโมเดลธุรกิจเกษตรฉบับย่อไปประยุกต์ใช้ในอาชีพ” นายสมคิด กล่าว     

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกล สู่เป้าหมาย 1,000 รร.ภายในปี 2568

นอกจากนี้ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ยังเป็นคลังเสบียงสำหรับชุมชน โดยผลผลิตไข่ไก่ที่ได้นำมาทำเป็นอาหารกลางวัน และนำผลผลิตส่งให้นักเรียนถึงที่บ้านตามบ้านตามวิถี New Normal  เพื่อให้เด็กๆได้บริโภคไข่ไก่เสริมสุขภาพให้แข็งแรงแม้อยู่ในช่วงโควิดก็ตาม ขณะเดียวกัน สามารถบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชน หรือผู้ปกครองนักเรียน เป็นคลังเสบียงอาหารที่มั่นคงของชุมชน ทำให้ประชาชนได้บริโภคไข่ไก่คุณภาพดี สด ใหม่ สะอาด และปลอดภัย ผลผลิตจากฝีมือของลูกหลาน ในราคาย่อมเยา ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารของครัวเรือน     โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ยังเป็นโครงการต้นแบบของการบริหารจัดการทรัพยากรเกิดประโยชน์คุ้มค่า ตั้งแต่ผลผลิตไข่ไก่ที่ถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวัน ผลผลิตส่วนเกินถูกจำหน่ายให้ชุมชนในราคาย่อมเยา ขณะเดียวกัน โรงเรียนต่อยอดนำผลผลิตไข่ไก่มาแปรรูปเป็นอาหารหลากหลายประเภท อาทิ เบเกอรี่  เป็นการสร้างอาชีพทางเลือกให้กับนักเรียนนำไปใช้ได้ในอนาคต มูลไก่ซึ่งเป็นของเสียถูกนำมาทำเป็นปุ๋ย และนำกลับมาใช้กับแปลงผักในโรงเรียน  นักเรียนนำความรู้การทำปุ๋ยไปใช้ที่บ้าน มีการเรียนรู้ในการนำเปลือกไข่ที่เหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์  

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลี้ยงไก่ อาทิ นำระบบแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ที่ถูกนำมาใช้ในการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงาน  สามารถให้คำแนะนำและแก้ปัญหาในการเลี้ยงไก่ได้อย่างทันท่วงทีใช้กูเกิลฟอร์ม (Google Form) ในการรวบรวมข้อมูลทางออนไลน์ ทั้งการรายงานข้อมูลผลผลิตไข่ไก่ จำนวนไข่ที่จำหน่ายให้ชุมชน ฯลฯ ซึ่งน้องๆนักเรียนต้องมีการรายงานอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ทำให้ทราบข้อมูลที่รวดเร็วเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิต      

ทั้งนี้ โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่   มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท โทรศัพท์ 02-766-7340/4310 โทรสาร 0-2638-2716 หรือดาวน์โหลดเอกสารการสมัครและหลักเกณฑ์ ที่เว็บไซต์ www.rurallives.org .