กฟผ. ร่วมกับ กธช. ลงนาม MOU “โครงการรวมพลังขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา สืบสานงานของพ่อ” และ
“โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม” ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมเดินหน้าสร้างพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน

วานนี้ (19 เมษายน 2565) ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ เป็นผู้แทน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 2 ฉบับ “โครงการรวมพลังขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา สืบสานงานของพ่อ”และ “โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม” กับ นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (กธช.) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติกล่าวปาฐกถาพิเศษ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

กฟผ.-กธช. พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าสู่เป้าล้านไร่อย่างยั่งยืน

ดร.จิราพร กล่าวว่า กฟผ. มีความมุ่งมั่นในการพัฒน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน โดยเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสัมพันธ์กับ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้าของ กฟผ. อันได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย จึงได้ร่วมกับ กธช. จัดทำ “โครงการรวมพลังขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา สืบสานงานของพ่อ”
โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานควบคู่ไปกับการสร้างความรู้และความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มนํ้า ซึ่งมีเป้าหมาย “หยุดท่วม-หยุดแล้ง อย่างยั่งยืน” รวมถึงสนับสนุนและพัฒนาศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติภายในชุมชนสู่การเป็นศูนย์ต้นแบบการพัฒนามนุษย์ตลอดชีวิต ขยายผลพื้นที่ตัวอย่างต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล เพื่อถ่ายทอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การปฏิบัติจริง

นอกจากนี้ กฟผ. พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำภายใต้นโยบาย EGAT Carbon Neutrality จึงได้ดำเนินแผนงานปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2565 – 2574 และบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี ซึ่งมีทั้งป่าต้นน้ำ ป่าบก และป่าชายเลน โดยในปี 2565 กฟผ. มีแผนลงพื้นที่ปลูกป่าในหลายพื้นที่ เช่น ป่าต้นน้ำ จ.น่าน แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และตาก ป่าชายเลน จ.ชุมพร ปลูกหญ้าทะเลที่เกาะลิบง จ.ตรัง  กฟผ. จึงได้ร่วมกับ กธช. ใน “โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม” โดยทาง กธช.จะเพาะพันธุ์กล้าไม้ และส่งเสริมการปลูกป่าจำนวนไม่น้อยกว่า 600,000 ต้น

กฟผ.-กธช. พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าสู่เป้าล้านไร่อย่างยั่งยืน

ได้แก่ ไม้ทรงคุณค่าตามภูมิภาค เช่น สัก ประดู่ มะค่า และไม้ยืนต้น เพื่อส่งเสริมการปลูกป่าชุมชนและป่าเพื่อประโยชน์ใช้สอยร่วมกันในพื้นที่ชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มศักยภาพการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม โดยการจัดอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแนวคิดทฤษฎีการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริและตามหลักกสิกรรมธรรมชาติสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน อีกทั้งสนับสนุนทีมอาสาสมัครในพื้นที่เพื่อติดตามดูแลพื้นที่ป่าที่ปลูกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

บันทึกข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี  โดย กฟผ. และ กธช. จะร่วมกันดำเนินภารกิจต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน