กฟผ. รับ 4 รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ จากงานมอบรางวัล SOE Awards ประจำปี 2564 สะท้อนผลงานโดดเด่นและความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์การอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ จาก ‘ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน’ รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่นด้านนวัตกรรม จาก ‘โครงการยกระดับสายส่งไฟฟ้า โดยไม่ดับกระแสไฟฟ้า’ และรางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น จาก ‘โครงการพัฒนาบ้านเบอร์ 5 ระหว่าง กฟผ.-การเคหะแห่งชาติ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง กฟผ. เป็นผู้แทนเข้ารับมอบรางวัล จาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายในงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Awards) ประจำปี 2564 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ยุควิถีใหม่ด้วยพลังรัฐวิสาหกิจไทยอย่างยั่งยืน” ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับปีนี้ กฟผ. ได้รับ 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล โดย กฟผ. ได้รับคะแนนการประเมินผลการดำเนินงานจากระบบประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจสูงสุดใน 5 อันดับแรกของประเทศ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology : DT) ปี 2563 ซึ่ง กฟผ. มีวิธีการส่งเสริมและผลักดันสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจดิจิทัล ด้วยการกำหนดนโยบาย การจัดสรรทรัพยากร การสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้งานในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาองค์การ

กฟผ. รับ 4 รางวัล SOE Awards ประจำปี 2564 การันตีก้าวสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล ดีเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา

รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ ประเภทดีเด่น จากผลงาน ‘ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน’ ซึ่งเป็นระบบที่ กฟผ. คิดค้นขึ้นและนำมาใช้เพื่อช่วยให้การคาดการณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีความแม่นยำมากขึ้น โดยอาศัยการทำงานของระบบโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network: ANN) ซึ่งผ่านสมมติฐานการทดลองซ้ำ ๆ โดยใช้ชุดข้อมูลการผลิตไฟฟ้าและสภาพอากาศในอดีต จนได้แบบจำลองพยากรณ์ที่มีความเชื่อถือได้ ช่วยเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศและป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตได้

รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม ประเภทดีเด่น จาก ‘โครงการยกระดับสายส่งไฟฟ้า โดยไม่ดับกระแสไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นการยกระดับการทำงานด้านระบบสายส่งโดยไม่จำเป็นต้องดับไฟฟ้า ช่วยลดข้อจำกัดในการวางแผนปฏิบัติงานทำให้ดำเนินการแก้ไขสายส่งที่มีระยะไม่ได้มาตรฐานได้อย่างรวดเร็ว สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้งานและผู้ปฏิบัติงานยกระดับสายส่ง โดยไม่จำเป็นต้องดับไฟ ส่งผลให้คุณภาพในการจ่ายไฟฟ้ามีความต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น ประเภทดีเด่น จาก ‘โครงการพัฒนาบ้านเบอร์ 5 ภายใต้โครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย’ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการยกระดับการออกแบบที่อยู่อาศัยของ กคช. ให้มีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัย รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาพรวมของประเทศ