วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรุงเทพมหานคร การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเสริมสร้างวินัยจราจรความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร ณ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว กองบังคับการตำรวจจราจร

ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดความยั่งยืนในเรื่องการดำเนินการด้านกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน มีการกำหนดมาตรการองค์กร การปลูกฝังสร้างจิตสำนึกวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน การปลูกจิตสำนึกรักความปลอดภัยให้แก่บุคลากรในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ดังนั้น กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรุงเทพมหานคร การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด จึงได้ร่วมลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการในพื้นที่เสี่ยงมีมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เสริมสร้างวินัยจราจรในกลุ่มวัยทำงาน บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนโดยการจัดการอย่างเป็นระบบ และเพื่อให้พนักงานในหน่วยงาน/สถานประกอบการที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย 100% ทั้งผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ และปฏิบัติตามกฎจราจร การใช้รถใช้ถนนเพื่อความปลอดภัย

พิธีลงนามความร่วมมือว่าด้วยการเสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร  ระหว่าง กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรุงเทพมหานคร  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน  บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเริ่มดำเนินการที่ “นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง” เนื่องจากข้อมูลของศูนย์ความร่วมมือป้องกันอุบัติเหตุ กทม.(ศรก.) ซึ่งเป็นความร่วมมือของกองบัญชาการตำรวจนครบาล  สำนักการจราจรและขนส่ง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่ได้มีการนำข้อมูลจาก ระบบ อบถ.ตร.ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ และข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน www.thairsc.com ของบริษัทกลางฯ พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ คิดเป็น 86.71% อีกทั้งยังพบว่าช่วงวัยที่เสียชีวิตมากที่สุดคือวัยทำงานที่มีมากกว่าร้อยละ 50 โดยในปี 2564 นั้น เขตพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของ กทม. คือเขตลาดกระบัง เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมซึ่งจะมีการใช้รถใช้ถนนกันจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกนิคม จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วย่อมมีความสูญเสีย ความเสียหาย ทั้งต่อตัวพนักงาน ครอบครัว และ รวมถึงองค์กรที่ล้วนแต่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

การเสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร หมายถึงการที่ “หน่วยงานหรือสถานประกอบการ” ที่มีพนักงานลูกจ้างในแต่ละองค์กรซึ่งต้องใช้รถใช้ถนนอยู่ทุกวันนั้น ได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์เพราะเป็นกำลังสำคัญในองค์กรซึ่งควรได้รับความคุ้มครองดูแล นอกจากความปลอดภัยในสถานประกอบการแล้ว ยังขยายไปถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนภายนอกสถานประกอบการนั้นด้วย อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกประการหนึ่ง โดยผู้บริหารระดับสูงจะกำหนดเป็นนโยบายองค์กรโดยให้มี “กฎบัตรหรือข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนขององค์กร” ขึ้นที่เปรียบเสมือน กฎกติกา ข้อบังคับ ขององค์กรที่ว่าด้วยการปฏิบัติตนในการใช้รถใช้ถนนเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและต่อสังคม เพื่อให้พนักงานในองค์กรต้องยึดถือปฏิบัติ ซึ่งจะมีการกำหนดบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน และการให้รางวัลหากพนักงานนั้นประพฤติปฏิบัติตนตามข้อบังคับและเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งกฎบัตรหรือข้อบังคับนี้จะเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพนักงานในองค์กร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรและประเทศ จะทำให้พนักงานในองค์กรมีวินัย มีความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย อันเนื่องจากการใช้รถใช้ถนน รวมถึงจะเป็นการป้องกันและลดการสูญเสีย อันเป็นการแสดงถึงความรักความห่วงใยในพนักงานในที่ทำงาน อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในกรณีที่พนักงานของบริษัทประสบอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย ขอเชิญชวนหากหน่วยงานใดสนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 1197 และ 1791

อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของทุกคน มาร่วมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยเริ่มจากตัวเรา ครอบครัวเรา องค์กรของเราและขยายสู่สังคมต่อไป เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อทุกคนเดินทางด้วยความปลอดภัย

สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท กลางคุ้มครองผผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

โทร.0-2100-9191 ต่อ 5400 – 5403 www.rvp.co.th