ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนในด้านประกันภัยและนิติวิทยาศาสตร์เชิงรุก

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

โดยพบสภาพปัญหาของทายาทผู้เสียชีวิตจำนวนมากไม่ทราบสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เสียชีวิตทำประกันภัยไว้ เนื่องจากผู้เอาประกันภัยไม่ได้แจ้งทายาทหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยไว้ หรือผู้เอาประกันภัยอาจเสียชีวิตกะทันหัน ดังนั้น สำนักงาน คปภ. และ สนว. จึงเล็งเห็นการเชื่อมโยงบทบาทด้านการประกันภัยและนิติวิทยาศาสตร์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบรรเทาทุกข์และสร้างหลักประกันให้แก่ทายาท ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์ให้ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยถึงมือผู้รับประโยชน์หรือทายาทอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงานยังได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางที่จะทำให้การประกันภัยดำเนินไปด้วยความยุติธรรม โดยสำนักงาน คปภ. เห็นว่า พยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความชัดเจนในคดีประกันภัย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาข้อพิพาทด้านการประกันภัยและการฉ้อฉลประกันภัยได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เป็นหลักการ
ทางวิทยาศาสตร์ มีความแม่นยำ น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของสากล

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง
สำนักงาน คปภ. โดย ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดย พันตำรวจเอกทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านประกันภัยและนิติวิทยาศาสตร์ แก่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ การให้บริการ การป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการประกันภัยและนิติวิทยาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อคุ้มครองสิทธิตามสัญญาประกันภัยของผู้เสียชีวิตและผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย ประการที่สอง เพื่อส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีการบริหารงานที่ดี ลดปัญหาข้อพิพาทประกันภัยด้วยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งมีประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม และประการที่ 3 เพื่อให้ทั้งสองหน่วยงานส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์และการประกันภัยเชิงรุกแก่บุคลากรภายใต้การกำกับดูแล ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชน

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

ด้านพันตำรวจเอกทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สนว. กับ สำนักงาน คปภ. ในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการคุ้มครองสิทธิตามสัญญาประกันภัยโดย สนว. จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลและวิธีการในการตรวจสอบการทำประกันภัยของผู้เสียชีวิต รวมถึงข้อมูลการประกันภัยต่าง ๆ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชน ตลอดจนส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย และการให้บริการของสำนักงาน คปภ. แก่บุคลากรของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทายาทของผู้เสียชีวิต
ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชน ตลอดจนให้ความร่วมมือในการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์และดำเนินโครงการหรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย การป้องกันและปราบปรามฉ้อฉลประกันภัย

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ประชาชนจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือในครั้งนี้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ ในกรณีที่ทายาท ครอบครัวผู้เสียชีวิต หรือผู้รับประโยชน์ไม่ทราบว่าผู้เสียชีวิตได้ทำประกันภัย อาจจะเสียสิทธิในการเรียกร้องเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัทประกันภัย กองทุนประกันชีวิต หรือ กองทุนประกันวินาศภัยได้ ดังนั้น การทำ MOU ในครั้งนี้ จะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ทายาท ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้รับประโยชน์ หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องได้รับทราบสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัย และสามารถนำเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างทันท่วงที อาทิ ช่วยให้มีเงินก้อนสำหรับปลดเปลื้องภาระหนี้สิน ช่วยให้คู่ชีวิตหรือผู้ที่อยู่ในความอุปการะมีเงินเลี้ยงชีพโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น หรือเป็นทุนการศึกษาให้บุตร เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมประกันภัย สามารถเข้าถึงบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย ตลอดจนลดข้อโต้แย้งในด้านประกันภัย เนื่องจากการเข้าถึงพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จะช่วยสร้างความชัดเจนในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย ในกรณีมีปัญหาข้อพิพาทที่อาจเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลประกันภัยหรือข้อพิพาทด้านประกันภัยต่าง ๆ เช่น การตรวจแอลกอฮอล์ ร่องรอยบาดแผล ลายนิ้วมือ คราบเลือด เส้นผม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประกันภัยดำเนินไปได้ด้วยความยุติธรรมและโปร่งใส อันจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ธุรกิจประกันภัยในภาพรวม

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

สำหรับความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. และ สนว. ในระยะแรก จะเป็นการประสานความร่วมมือ
ในรูปแบบประสานงานด้านข้อมูล โดยสำนักงาน คปภ. จะอำนวยความสะดวกในการประสานงานตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของประชาชนที่มารับบริการของ สนว. ตามที่ถูกร้องขอ และมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางให้ประชาชนรับทราบบทบาท การให้บริการ และแนวทางความร่วมมือของสองหน่วยงาน ส่วนในระยะต่อไปจะมีการยกระดับความร่วมมือทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการเชื่อมโยงระบบข้อมูลของสองหน่วยงาน ในรูปแบบ API
เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน และสามารถค้นหาข้อมูลได้ทันที โดยทั้งสองหน่วยงานจะปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเพื่อให้การประสานความร่วมมือเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สำนักงาน คปภ. และ สนว. จะประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานที่มีความชำนาญทั้งในด้านประกันภัยและนิติวิทยาศาสตร์
จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้แก่ประชาชน
อย่างครบวงจร” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย