เราจะทำให้ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” คือวิสัยทัศน์ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้นำสถานการณ์ปัจจุบัน และสภาพแวดล้อมของการบริหารประเทศ มาใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงอนาคตที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศ/ ชุมชน ในด้านที่มีผลต่อการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติราชการ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งได้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ทำให้มีความง่าย ท้าทาย และเป็นไปได้ในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้บุคลากรทุกคนใช้เป็นกรอบทิศทางการปฏิบัติงาน โดยสามารถกำหนดรูปแบบ นำไปประยุกต์สู่การปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสมในพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศ สู่ “ตำบลเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยใช้ “โก่งธนู โมเดล” เป็นต้นแบบ และมีนโยบายให้ “พัฒนากร” ในพื้นที่ทั่วประเทศได้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ด้านความมั่นคง ต้องลดรายจ่าย (ปลูกพืชผักสวนครัว) สร้างงาน สร้างอาชีพ (สัมมาชีพชุมชน) ด้านความมั่งคั่ง สร้างงาน/อาชีพ ( OTOP Academy) สร้างรายได้ (OTOP TRADER) Outlet ชุมชน ทุนสร้างรายได้ กองทุนเพื่อโอกาสและความมั่นคงของสตรี (กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี) สนับสนุนอาชีพ (กองทุน กข.คจ.) กองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการ ด้านความยั่งยืน สร้างสุขภาพที่ดี (ตลาดประชารัฐ) Green Market เกื้อกูลคนด้อยโอกาส (ธนาคารอาหาร/ถนนไม้ผลกินได้) รักษาสิ่งแวดล้อม (ผู้นำการเปลี่ยนแปลง) Save the earth มีสวัสดิการ (กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต) ชุมชนสวัสดิการ ซึ่งการดำเนินพัฒนาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับครัวเรือน จะต้องทำให้ชุมชน “พอมี พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น (แบ่งปันกัน)” เป้าหมายทำทุกครัวเรือน โดยจะกำหนดเป็นตัวชี้วัด (kpi) 3 ระดับ คือ ครัวเรือนปฏิบัติ 70% ขึ้นไป ผ่านเกณฑ์ 80%ขึ้นไปรางวัลชมเชย และ 90% ขึ้นไป จะได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 2.ระดับชุมชน “สร้างงาน สร้างอาชีพ” (ทำเป็นอาชีพ) โดยให้ศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชนทั้ง 11 แห่ง พัฒนาพื้นที่ตามรูปแบบ “โคกหนองนา โมเดล” ใช้แกนนำในพื้นที่มาร่วมดำเนินการให้เป็น “ปราชญ์” แล้วกลับไปทำเป็นอาชีพของตนเอง สำหรับศูนย์ศึกษาฯ ที่อยู่ในเขตเมือง จะเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ที่เป็นเมือง นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการเลิกจ้างงาน ส่งออกติดลบ บัณฑิตจบใหม่มีแนวโน้มตกงานกว่า 5 แสน คน ภายในเดือนมีนาคม 2563 ในฐานะข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้าราชการกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน จึงต้องช่วยพี่น้องประชาชน ในการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา” อย่างเต็มที่ด้วย

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในการทำงานตามนโยบายดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จนั้น “พัฒนากร” จะต้องลงพื้นที่ในชุมชน ทำงานเคียงข้างประชาชน ทำให้ชุมชน “พอมี พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” ประสานภาคีเครือข่าย ทั้งผู้นำ กลุ่ม องค์กร และภาคีการพัฒนาในพื้นที่ มาบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการรายงานผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นการพัฒนาสู่ยุค 4.0 เพื่อลดการใช้กระดาษ พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน โดยร่วมกันขับเคลื่อนงานเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกัน นายสุทธิพงษ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังได้ขอให้ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เท่านั้น ยังหมายรวมถึงเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การลดขยะ ลดโลกร้อน ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ไม่ใช้กระดาษทิชชู ไม่ใช้หลอดและแก้วน้ำที่ต้องใช้แล้วทิ้ง ทั้งยังรณรงค์ให้สำนักงานไร้กระดาษ (ห้องประชุมไร้กระดาษ) ลดการรายงานที่ต้องใช้กระดาษอย่างสิ้นเปลือง ให้มาใช้ระบบรายงานแบบไฟล์เอกสาร และทำงานผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีของคน พช. ที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยทั่วประเทศ แน่นอน…