วันนี้ (15 ส.ค. 62) เวลา 09.00 น. ที่ห้องราชดำเนิน โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)

เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ: การรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ” และบรรยายพิเศษ
เรื่อง “สิทธิความเท่าเทียมของบุคคลสู่ความมั่นคงของมนุษย์” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 115 คน ประกอบด้วย ผู้แทน
จากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนจากภาคประชาสังคม และผู้แทนจากผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้สังเกตการณ์

นายจุติ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ และเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด
เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ทั้งยังเกี่ยวพันกับหลายๆหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
ด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศ รับผิดชอบการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่สำคัญ คือ การป้องกันและให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งเพศหญิง เพศชาย หรือด้วยเหตุที่มีความหลากหลายทางเพศ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือคณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยคำร้องของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งพบว่าตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สถิติผู้มายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. กว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และ ปัญหาที่บุคคลเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ร้องมีอัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ และเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดทั้งสิ้น

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย สค. จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ : การรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ” ในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย เนื่องจากการจัดทำกฎหมายรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศนี้ จะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทย เป็นประชาธิปไตยในความหมายของการยอมรับและเคารพความแตกต่าง ความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ และ 2) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง ซึ่งเป็นสามเสาที่สำคัญในการสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อทุกคนในสังคม เพราะหากปราศจากความเห็นพ้องต้องกันของสามเสาหลักนี้ การจัดทำกฎหมายรับรองเพศย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

นายจุติ กล่าวอีกว่า มีรายงานทางวิชาการหลายชิ้นพบว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศล้วนมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติและถูกกีดกัน ทั้งด้านการทำงาน ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงประสบปัญหาหลายอย่างในการใช้ชีวิตประจำวัน และยังถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงบริการของภาครัฐด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าสาเหตุสำคัญของการเลือกปฏิบัติ คือ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือเพศวิถี หรือเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดของบุคคลนั้นๆ ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ส่งผลให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจะมีความพยายามแก้ไขปัญหา ด้วยการผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ รวมทั้งพยายามจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ขึ้น เช่น ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ. ….. การประชุมฯ

ในวันนี้ ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และจะนำไปกำหนดแนวทางในการจัดทำกฎหมายเพื่อรับรองเพศสภาพได้ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานขั้นต่อไป คือ การจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง และการจัดตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพต่อไป
“ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การเสวนา เรื่อง “ไม่มีกฎหมายเพื่อคนข้ามเพศ หากไม่มีส่วนร่วม
ของคนข้ามเพศ” การอภิปราย เรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ : ความหลากหลายของความเป็นมนุษย์” และเวทีแลกเปลี่ยน
ความคิดเห็น “เคลื่อนทัพ รับรองเพศ” นายจุติ กล่าวในตอนท้าย